กฎหมายคุ้มครองข้อมูลไทย จะเดินตามโมเดลไหนดี: สหภาพยุโรป หรือ เอเปค?

Nokia 9300i Communicator

เวลาคุยกันว่า ประเทศไทยควรจะเลือกเดินตามหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ EU (สหภาพยุโรป) หรือ APEC (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก) ก็มักจะมีคำอธิบายว่า ของ EU นั้นเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ของ APEC มองเรื่องเศรษฐกิจนะ (แล้วโน้มน้าวโดยนัยว่า ไทยน่าจะมองเรื่องเศรษฐกิจก่อน ตอนนี้เศรษฐกิจแย่)

ผมก็เคยอธิบายแบบเร็วๆ อย่างนั้นเหมือนกันนะ คือในแง่ที่มามันก็น่าจะทำนองนั้น

แต่ไม่ได้หมายความว่ากรอบกฎหมายของ EU มันไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเศรษฐกิจเลย มันก็คิดในทุกมิติ เศรษฐกิจก็เป็นหนึ่งในนั้น นวัตกรรม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ก็ใช่ (เอาจริงๆ ก็พอพูดได้ว่า EU นี่เริ่มต้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ย้อนไปสมัยประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป)

เราไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สิทธิมนุษยชนกับเศรษฐกิจทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันได้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลที่มันต้องตั้งอยู่บนฐาน “ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน”

ถ้าเอาเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่สนสิทธิมนุษยชนเลย ลองดูอุตสาหกรรมอาหารทะเลสิ ตอนนี้เป็นยังไง พอจะโดนแบนจริงๆ ก็ต้องรีบมาทำให้มันได้มาตรฐานอยู่ดี ตลาดที่เสียไปแล้วบางส่วนก็เสียไปเลย

การมีมาตรฐานด้านสิทธิที่ดี ก็เพื่อให้คู่ค้าของเราไว้ใจเรา เชื่อใจเรา ว่าเราให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เขาให้ความสำคัญ มันแยกกันไม่ขาด

….

อีกประเด็นคือ ของ EU ที่เราคุยกันเนี่ย อันนึงคือ General Data Protection Regulation (Regulation (EU) 2016/679) กับอีกอันคือ Directive (EU) 2016/680 ซึ่งทั้งคู่เพิ่งออกมาเมื่อปีที่แล้ว (2016 และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2018)

ในขณะที่ APEC Privacy Framework ออกเมื่อปี 2005 (เริ่มร่างปี 2003 adopted ปี 2004 แต่ finalized ปี 2005)

ตอนปี 2005 นี่โลกเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างไรบ้าง?

  • hi5 กำลังเริ่มเป็นที่นิยม (ตั้งปี 2004)
  • MySpace เป็นสื่อสังคมออนไลน์อันดับหนึ่ง (ตั้งปี 2003)
  • Facebook เพิ่งตั้งได้ปีเดียว (2004) แต่ยังจำกัดสมาชิกอยู่เฉพาะนักศึกษาในสหรัฐ (เปิดให้ลงทะเบียนทั่วไปปี 2006)
  • Gmail ก็เพิ่งเปิดให้บริการแบบจำกัดได้หนึ่งปีเหมือนกัน (2004) ต้องมี invite ถึงจะสมัครได้ และกว่าจะเปิดให้บริการทั่วไปก็ปี 2009
  • โทรศัพท์ “สมาร์ตโฟน” ในตอนนั้นคือ Nokia รุ่น 9300i (ประกาศพ.ย. 2005 วางขายจริง ม.ค. 2006) ระบบปฏิบัติการ Symbian 7.0S หน่วยความจำ 80 MB เบราว์เซอร์รองรับ HTML 4.01 กับ WML 1.3 ราคาเกือบสามหมื่น
  • ยังไม่มี iPhone (ออกปี 2007)
  • ยังไม่มี Google Android (กูเกิลซื้อบริษัทแอนดรอย์มาปี 2005 แล้วเอามาพัฒนาต่อ แล้วออกรุ่นแรกในปี 2008)
  • ยังไม่มี Line (ออกปี 2011)
  • ยังไม่มี Amazon Web Services (เริ่มปี 2006)

คือหยิบมือถือของเราขึ้นมาดูนี่ แทบไม่มีอะไรที่มีมาก่อนปี 2005 เลย หรือถ้ามีก็เปลี่ยนสภาพไปจนจำไม่ได้แล้ว พวกคอนเซปต์อย่าง cloud อะไรนี่ สมัยนั้นยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลายในทางการค้าเลย (เมื่อก่อนเรียกในชื่ออื่น เช่น utility computing)

ซึ่งพอเป็นแบบนี้ มันก็ลำบากอยู่เหมือนกัน ที่จะคาดหวังให้กรอบกฎหมายจากปี 2005 อย่าง APEC Privacy Framework มันจะมาเห็นประเด็นอะไรในปัจจุบันแบบละเอียดๆ คือสมัยนั้นมันยังไม่มี (เอาจริงๆ มันก็พอมี เช่น APEC Cross-border Privacy Enforcement Arrangement จากปี 2010 แต่เราไม่ยอมอ้างกัน ไปอ้างแต่ของเก่า)

ในขณะที่ตอนร่าง General Data Protection Regulation ของ EU มันก็มีกรณีศึกษาอะไรให้สรุปเป็นบทเรียนเยอะแล้ว โดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตและการประมวลผลข้อมูลที่มันเปลี่ยนไปอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา เขาเลยปรับปรุงออกมาแบบนี้

ถ้าไทยจะมีกฎหมายใหม่ ก็ควรคิดถึงอนาคตไหม ไม่ใช่เอาวิธีคิดจากเมื่อ 12 ปีที่แล้วมาใช้ ประกาศปุ๊บ ล้าสมัยทันที เสียเวลาไหม

 

ภาพประกอบ: Nokia 9300i จาก Nokia Museum


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.