ความมั่นคงปลอดภัยของ Internet of Things – ข้อคิดจาก Bruce Schneier ในงาน #infosec17


โพสต์ที่แล้วเล่าเรื่องงาน Infosecurity Europe วันที่สองไป เรื่อง General Data Protection Regulation (GDPR) จากมุมมอง ICO ยังเหลืออีกเรื่องที่ไปฟังมา คือเรื่อง ความปลอดภัยของ Internet of Things (IoT)

หัวข้อคือ Artificial Intelligence and Machine Learning: Cybersecurity Risk vs Opportunity? มี Bruce Schneier เป็นคนพูด คนแน่นมาก ตรงที่เป็นถ่ายทอดให้ดูทางจอก็ยังแน่น (ในภาพนี้เฉพาะที่นั่ง มียืนรอบๆ อีก)

Schneier พูดหลายประเด็น แต่อันหลังสุดมาเน้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของ Internet of Things หรือ “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง”

เขาบอกว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์ไอทีสำหรับใช้ตามบ้านอย่างไมโครซอฟท์ กูเกิล แอปเปิล อาจจะอัปเดตแพตช์ต่อเนื่องสัก 2-5 ปี แต่อุปกรณ์อย่างกล้องวงจรปิดหรือเราเตอร์ถูกๆ ไม่มีการอัปเดต ผู้ผลิตอุปกรณ์ IoT ราคาถูกเหล่านี้มีกำไรน้อยเกินกว่าจะตามออกแพตช์ หรืออุปกรณ์บางรุ่นไม่มีวิธีจะอัปเดตด้วยซ้ำ วิธีอัปเดตของพวกนี้คือ ทิ้งของเก่า ซื้อใหม่ ติดตั้งใหม่

เราเปลี่ยนมือถือทุก 2-3 ปี กล้องวงจรปิดทุก 5-10 ปี ตู้เย็นบางบ้าน 20 ปี รถยนต์ที่มีตลาดมือสองอาจมีอายุการใช้งาน 40-50 ปี

คนทำซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ทำแล้วใช้ไปได้ 40-50 ปี แต่คนทำซอฟต์แวร์มือถือหรือ IoT ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน

ที่ซอฟต์แวร์ในบางอุตสาหกรรมมีความปลอดภัยสูง เพราะการกำกับดูแลและระบบนิเวศน์มันทำให้เป็นแบบนั้นได้ ต้องมีใบรับรอง มีการทดสอบ มีการตรวจสภาพ ซึ่ง IoT ยังไม่มีระบบนิเวศน์แบบนั้น

Schneier มองว่า รัฐมีบทบาทตรงนี้ได้ ด้วยการกำหนดนโยบาย เช่นการกำหนดให้ซอฟต์แวร์ในกิจการที่สำคัญมากๆ (critical) เก็บประวัติการทำงานและข้อผิดพลาด แบบที่อุตสาหกรรมการบินและยานยนต์ทำนั้น ทำให้เรามีข้อมูลเพื่อศึกษาและปรับปรุงระบบในอนาคตให้ปลอดภัยขึ้นได้

เขาเห็นว่า ข้อถกเถียงที่ว่า การกำกับดูแลจะจำกัดนวัตกรรมนั้นไม่ได้จริงเสมอไป

สำหรับอุตสาหกรรมนี้ มันไม่ใช่ทางเลือกระหว่าง “กำกับ vs ไม่กำกับ” แต่เป็นระหว่าง “กำกับอย่างฉลาด vs กำกับอย่างโง่” (smart regulation vs stupid regulation)

เขาทิ้งท้ายว่า ในบางประเทศเริ่มมีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้แล้ว ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตอุปกรณ์พวกนี้ “รับผิดชอบ” กับผู้ใช้มากขึ้น — เช่นในสหรัฐอเมริกา ที่ FTC และ FCC สอบสวนว่าทำไมผู้ผลิตโทรศัพท์ออกอัปเดตความปลอดภัยช้า หรือที่หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของเนเธอร์แลนด์ฟ้องซัมซุงและเรียกร้องให้ออกอัปเดตความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอตลอด 2 ปีนับจากวันที่ซื้อ

ใครสนใจงานนี้ ติดตามแฮชแท็ก #infosec17 ได้ในทวิตเตอร์ครับ ส่วนเรื่อง AI กับ security มีอีกโพสต์เรื่อง adversarial machine learning

บูต Pen Test Partners โชว์เจาะระบบข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ทั้งกล้องวงจรปิด ตุ๊กตา เครื่องดูดฝุ่น กลอนประตู
บูต Pen Test Partners โชว์เจาะระบบข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ทั้งกล้องวงจรปิด ตุ๊กตา เครื่องดูดฝุ่น กลอนประตู

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.