“Houston, we’ve had a problem.”
อินเทอร์เน็ต วิกิพีเดีย และยูทูบ ก็ทำให้เรารู้อะไรใหม่ๆ เยอะแยะ ซึ่งก็ไม่รู้จะรู้ไปทำไม และมันก็สนุกดี (ในตอนนี้ ก่อนจะต้องวิ่งไปเคลียร์ดินที่พอกหาง)
ในอัลบั้ม “เพลงประกอบ” บอลโลก France 98 มีเพลงฮิตเพลงนึงที่เปิดบ่อยๆ ตอนนั้น คือ “Rendez-Vous 98” โดยสองศิลปิน Jean-Michel Jarre (ฝรั่งเศส) และ Apollo 440 (อังกฤษ) ประมาณว่าเป็นเพลงประจำทีมชาติฝรั่งเศสและอังกฤษ ในเพลงมีมิกซ์เพลงชาติฝรั่งเศสเข้าไปด้วย (ที่เลวทรามมากคือ เพลงของสกอตแลนด์ โดย Del Amitri นั้นชื่อว่า “Don’t come home to soon”)
Rendez-Vous 98 เป็นรีมิกซ์ของ Fourth Rendez-Vous แทร็คที่สี่ในอัลบั้ม Rendez-Vous โดย Jean-Michel Jarre ซึ่งมีทั้งหมดหกแทร็ค ชื่อเพลงก็ไล่ไปเรื่อย First, Second, … Fifth, และแทร็กสุดท้ายชื่อว่า Last Rendez-Vous (Ron’s Piece)
ทำไมต้อง Ron’s Piece?
rendezvous นั้นหมายถึงการพบกัน last rendezvous ก็คือการพบกันครั้งสุดท้าย
เดิมทีแทร็คสุดท้ายนั้นจะใช้เสียงแซ็กโซโฟนที่นักบินอวกาศ Ron McNair จะเล่นในกระสวยอวกาศแชลเลนเจอร์ แต่ไม่ทันจะไปถึงอวกาศยานก็ระเบิดตูมเสียก่อน เมื่อ 28 มกราคม 1986
“In space no one can hear you scream.”
นอกจากหาคนมาเล่นในอัลบั้มนั้นแทนแล้ว ที่วางไว้ว่า เดือนเมษาจะจัดคอนเสิร์ตที่ Houston เมืองที่เป็นฐานปล่อยกระสวยอวกาศ และจะให้ Ron เล่นสดๆ ส่งสัญญาณมาที่โลก ก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน หาคนอื่นมาเล่น และตัวคอนเสิร์ตเองก็กลายเป็นการร่วมรำลึกให้กับเหล่านักบิน
ตัวเลขประมาณการของคนมาร่วมคอนเสิร์ตนี้ อยู่ที่ 1-1.5 ล้านคน กินเนสบุ๊กบันทึกไว้ตอนนั้นว่าเป็นคอนเสิร์ตร็อคกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Rendezvous with Rama เป็นชื่อนิยายวิทยาศาสตร์เล่มสำคัญของ Arthur C. Clarke ที่ได้ทั้งรางวัลฮิวโกและรางวัลเนบิวลา
ทั้ง Ron และ Clarke เป็นเพื่อนสนิทของ Jarre
1 มกราคม 2001 วันแรกของสหัสวรรษใหม่ Jarre และศิลปินญี่ปุ่น Tetsuya “TK” Komuro ทำโปรเจกต์ร่วมกันในชื่อ The Vizitors จัดคอนเสิร์ต Rendez-Vous In Space ที่โอกินาวา มีวีดิโอของ Arthur C. Clarke ที่ Jarre ไปอัดมาจากศรีลังกา เปิดฉายตอนต้นของคอนเสิร์ต ซึ่งใช้เพลงธีมจากหนัง 2001: A Space Odyssey ซึ่ง Clarke บอกว่าได้รับแรงบันดาลใจอย่างมากจากเพลงของ Jarre
“Houston, we’ve had a problem.” เป็นประโยคจากยาน Apollo 13 ตอนที่ยานกำลังพบกับวิกฤต เซอร์วิสโมดูลใช้การไม่ได้หลังแทงก์ออกซิเจนระเบิด แต่ชะตากรรมของนักบินต่างไปจากแชเลนเจอร์ พวกเขายังหาทางกลับบ้านมาพบคนรักได้
rendezvous นั้นหมายถึงการพบกัน การเอา Jarre และ Apollo 440 มาร่วมทำเพลง Rendez-Vous ใหม่ในปี 1998 นั้นลงตัวอย่างตั้งใจ-แม้ไม่อยากให้เกิด
อัลบั้ม Rendez-Vous นั้นออกในปี 1986 ปีเดียวกับที่แชเลนเจอร์ระเบิด และเป็นปีที่มีบอลโลกที่เม็กซิโก ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่ทั้งทีมชาติฝรั่งเศสและทีมชาติอังกฤษได้ไปบอลโลกพร้อมกัน และ 1998 ที่ฝรั่งเศสนี่แหละ ที่ทั้งสองทีมได้มาพบกันอีกครั้ง แม้จะไม่ได้เจอกันในสนามก็ตาม
Jarre อาจจะอยากให้ Rendez-Vous 98 พาเหล่านักบินกลับโลกอีกครั้งก็ได้
….
ขอบคุณอินเทอร์เน็ต ทำให้เรามีโอกาสได้พบข้อมูลอะไรก็ไม่รู้มากมาย celebrating celebrating rendezvous rendezvous
โพสต์เรื่องนี้เพราะวันนี้กรุ๊ป GodungMusic ชวนกันแชร์เพลง “ทำใหม่” ที่ชอบ ไปโพสต์ไปลองฟังกันได้ครับ