“โดย…xxxx xxxxxx หารูปประกอบให้ด้วยครับ”
ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป๊ะมากมาย และคิดว่าโดยสภาพออนไลน์ มันแก้กันทีหลังได้ ความเคร่งครัดก็อาจจะลดลง ยิ่งถ้าคิดในบริบทข่าวด่วน ข่าวที่กำลังดำเนินอยู่ มันจะอัปเดตอยู่เรื่อยๆ ข้อมูลที่เคยคิดว่าถูกในเวลาหนึ่ง ก็อาจถูกแทนด้วยข้อมูลใหม่เมื่อเวลาผ่านไป ก็ต้องแก้ๆ กันไปเรื่อยๆ ล่ะ
หลายคนในวงการวารสารก็เสนอกันว่า ข่าวในทุกวันนี้ มันไม่ใช่ product มันเป็น process อย่าไปคิดว่าจะจบในตัวมันเอง
เฮ้ย แต่ขอในหนึ่งชิ้นนี่ ให้มันอ่านรู้เรื่องหน่อย เรื่องที่ไม่ควรจะผิดหรือเรื่องพื้นฐานก็พยายามอย่าผิด จะอัปเดตอะไรเดี๋ยวว่ากัน
คือหลังๆ มันหลุดเยอะเกินนะ ไม่ได้เจาะจงที่ไหนเป็นพิเศษ มองเป็นภาพรวมเลย เราจะเห็นตั้งแต่เรื่อง “เล็กน้อย” อย่างสะกดผิด ไปจนถึงข้อมูลผิด หรือตีความข้อมูลผิด
ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่หน้าข่าวออนไลน์ แต่พูดถึงกระบวนการทำข่าวในยุคออนไลน์ มองเป็นยุค ไม่ได้มองที่ช่องทางนำเสนอ
หนังสือพิมพ์ออนไลน์แห่งแรกๆ อย่างประชาไทนี่ก็สะกดผิดเยอะ หลังๆ พอโดนบ่นหนัก ก็ดีขึ้น แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องสะกดผิด แต่เป็นการใช้คำผิดไปเลย
อย่างพาดหัวข่าว “กลุ่มนิรนามแฮกเว็บรัฐบาลบราซิล เปลี่ยนข้อความเป็นชวนร่วมประท้วงขึ้นค่าโดยสาร ขสมก.” อ่านแล้วก็ชะงัก อะไรจะสมานฉันท์ขนาดนั้น กลุ่มในบราซิลประท้วงเพื่อคนกรุงเทพเลยนะเนี่ย (เขาแก้ไปแล้ว แต่ไม่ทันละฮะ ถ้าเสิร์ชพาดหัวนี้ดูจะเห็นเต็มเว็บเลย คนเขาก๊อปไปทั้งหยั่งงั้นล่ะ)
มติชนออนไลน์นี่ก็โดนล้อเยอะ มีตั้งเป็นเพจ “มติชนออนไลน์นี่มันมติชนออนไลน์จริงๆ” เลย
ส่วนหนึ่งเราต้องให้เครดิตทีมมติชนออนไลน์ เหมือนๆ กับประชาไท ที่พยายามจะทำประเด็นที่ไม่เคยจะได้เป็นข่าวในหน้ากระดาษหรอก ให้มันมีที่ทางไปสู่คนจำนวนมากขึ้น
ทั้งการถ่ายทอดงานสัมมนาเสวนาต่างๆ ให้มันไม่ตายอยู่แค่ในวงเล็กๆ ทั้งมอนิเตอร์นักคิดนักเขียนนักวิชาการต่างๆ ทางโซเชียลมีเดีย — ซึ่งนสพ.ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับต่างๆ ก็ทำแบบนี้ เขาถือว่านี่เป็นการเข้าถึงความคิดของคนพวกนี้ได้ใกล้ชิดขึ้น บางทีก็ถามตอบกันทางทวิตเตอร์เพื่อเอาเป็นแหล่งข่าวเลยก็มี — และพร้อมกันนี้ รูปแบบการนำเสนอและการใช้ภาษา มติชนออนไลน์เองก็ได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียมาเยอะ สมกับที่เกิดในยุคสมัย
ที่โดนแซวเยอะ ก็เรื่องหลายข่าวที่คนงงว่า นี่ก็เป็นข่าวได้ด้วยเหรอเนี่ย (ซึ่งตรงนี้จะว่าแล้วแต่มุมมองก็ได้) หรือข่าวที่สั้นมากๆ บางทีมีแต่พาดหัว — กรุงเทพธุรกิจก็เป็นแบบนี้ด้วย บาง Breaking News นี่สั้นกว่าทวีตอีก ไม่รู้จะกดเข้าไปดูในเว็บทำไม อ่านทวีตก็พอละ
และการสะกดผิดที่เห็นเป็นประจำ หรือใช้คำผิดไปเลย
อย่างที่คนล้อเยอะเร็วๆ นี้คือ ข่าวเรือบรรทุกสินค้า “เอ็มม่า แมร์เซ็ค” ที่ลงผิด จาก เมตร เป็น ไมล์ กลายเป็นโคตรเรือไปเลย
เรื่องใช้คำผิดนี่ ผมว่าซีเรียสกว่าสะกดผิด เพราะมันสะท้อนว่า คนเขียนข่าวเข้าใจเนื้อหาข่าวมากน้อยแค่ไหน
เย็นวันเสาร์ ดูรายการ Weekly C3 ทางช่องสาม น้องซี ผู้ประกาศ แนะนำโปรแกรมรุ่นใหม่ของอโดบี บนจอโชว์หราเลย “Adobe Creative Clound” กดดูที่เว็บในวันอาทิตย์ก็สะกดแบบนี้
จะว่าสะกดผิดก็ได้ หรืออีกอย่างนึงก็คือไม่รู้ว่ามันคือคำที่หมายถึง เมฆ นะ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น มันก็งงๆ นะ ว่าเขารู้ไหมว่าคอนเซปต์ของเรื่องที่กำลังเสนอ มันเป็นยังไง ทำไมถึงใช้อุปลักษณ์ เมฆ — โอเค แต่คนทำกราฟิกก็อาจจะไม่ใช่ผู้ประกาศข่าว เป็นฝ่ายเทคนิค ซึ่งก็อาจจะไม่ได้ปรึกษากัน แต่นี่ก็ทำให้เห็นจุดอ่อนในกระบวนการทำข่าวได้เหมือนกัน
มันก็มีความกดดันจากทุกด้านนะ สำนักข่าวทั่วโลกลดจำนวนนักข่าว ทั้งในภาพรวมขององค์กร และทั้งในเรื่องจำนวนนักข่าวที่ส่งไปทำต่อข่าวหนึ่งชิ้น
นักข่าวยุคนี้ถูกคาดหวังว่าต้องทำเองหมด ทั้งกำหนดประเด็นเอง ค้นคว้าข้อมูลก่อนลงสนามเอง (ผมเข้าใจว่าข่าว 3 มีทีมค้นคว้าข้อมูลเพื่อสนับสนุนนักข่าวหรือผู้ประกาศ Nation Channel และ Voice TV ก็น่าจะมี รายการอย่างตอบโจทย์และรายการข่าวหลักๆ ของ Thai PBS นี่มีแน่ ช่องอื่นผมไม่ทราบ) ลงสนามเอง สัมภาษณ์เอง ถ่ายรูปถ่ายวิดีโอเอง (จะ backpack journalist หรือ back-pocket journalist ก็แล้วแต่ความบ้าอุปกรณ์) เผลอๆ ยังต้องตัดต่อคลิปสั้นๆ ได้เองอีกด้วย เพื่อส่งแบบเร็วๆ ด่วนๆ จากสนาม แน่นอนว่าการเป็นบรรณาธิการเองและตรวจปรูฟตัวสะกดเอง ก็เป็นเรื่องที่ถูกเรียกร้องมากขึ้น
ในทางนึงมันเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ในอีกทางนึง มันก็คล่องตัวขึ้น ถ้าบริหารจัดการให้ภาระงานมันไม่กดดันจนเกินไป และสำนักข่าวยังมีทีมสนับสนุนอีกชั้น ไม่ใช่ถีบนักข่าวออกไปทำทุกอย่างเอง แล้วสำนักข่าวทำแค่เอาข่าวขึ้นเว็บกับหาสปอนเซอร์หาทุนมารันธุรกิจ ถ้าเป็นแบบนั้น มันเหมือนโยนหน้าที่ทุกอย่างของสำนักข่าวไปอยู่กับนักข่าว ซึ่งจะหนักไปไหม เช่นจะคาดหวังให้นักข่าวอ่านบัญชีการเงินได้คล่องแคล่ว ไม่ปล่อยไก่แบบโพสต์ ที่รายงานเรื่อง K-Water ก็จะเกินไปไหม ทำไมสำนักข่าวไม่มีทีมสนับสนุนเรื่องอ่านบัญชีอะไรนี่ให้กับนักข่าวมั่ง บก.เช็คการตีความข้อมูลอีกที
คือถ้าไม่มีทีมสนับสนุน แล้วทำเรื่อง funding กับ distribution เท่านั้น งั้นสำนักข่าวนี่ทำตัวเหมือนนายหน้าเลยนะ ซึ่งโมเดลนี้อาจจะเวิร์กสำหรับ The Huffington Post แต่อย่าลืมว่า “นักข่าว” ของ HuffPost นั้นจำนวนมากคือนักข่าวพลเมืองที่อยู่ในวิชาชีพต่างๆ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องเฉพาะของตัวเองสูงและเขียนเฉพาะเรื่องในสาขานั้น และอีกจำนวนนึงคือคอลัมนิสต์ชั่วโมงบินสูง (ใครรู้ editorial process ของ HuffPost ละเอียดๆ ก็แชร์ได้นะครับ)
ผมก็ไม่รู้ว่าโมเดลธุรกิจในไทยจะพัฒนาไปยังไง แต่อาการที่ปรากฏในปัจจุบัน ในเรื่องเนื้อหาที่เราว่าๆ ไป การสะกดผิด คำผิด ข้อมูลผิด อ่านผิด ผมว่าเหตุสำคัญมาจากโมเดลธุรกิจซึ่งเชื่อมโยงกะกระบวนการบรรณาธิการนี่แหละ (แม้โดยอุดมคติเราจะเชื่อว่า การดำเนินธุรกิจไม่ควรจะมายุ่งกับการทำข่าวก็เถอะนะ) ดังนั้นถ้าหงุดหงิดเรื่องพวกนี้ เรื่องข่าวผิด จะผิดระดับไหนก็เถอะ ก็อาจจะชวนคิดหน่อย ว่าโมเดลตอนนี้เรามีแบบไหนมั่ง แล้วข้อดีข้อเสียเป็นไง จะช่วยพัฒนาข่าวได้ไงมั่ง
(โพสต์เสร็ตแล้วผมก็ออกไปดูหนัง ไม่ใช่เรื่องของผมไง พูดอะไรก็ได้ / เมื่อคืนไปดู The Company You Keep มา เกี่ยวกะนักข่าวพอดี)
โพสต์ครั้งแรกที่เฟซบุ๊ก Art Bact’ 6 ก.ค. 2556 — แก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อย และเพิ่มลิงก์ไปยังรายการและหนังสือพิมพ์ต่างๆ