ตลก ภาพยนตร์ คลังปัญญาไทย "Wisdom Society" [update]


สุดเขตสเลดเป็ด เป็นภาพยนตร์ที่ตลกดีนะครับ หัวใจหล่อมาก

"ภาพยนตร์" @ คลังปัญญาไทย

จากบทความ ภาพยนตร์ เว็บไซต์คลังปัญญาไทย

ภาพยนตร์ [ลิงก์ไป http://www.movie.kapook.com/] (Cinematographic Works) หมายถึง สื่อเคลื่อนไหวที่สะท้อนเหตุการณ์ทางสังคม การเมือง และ วัฒนธรรมที่สร้างขึ้นเป็นระบบมาตรฐานโดยฝีมือคนไทย ได้แก่ ภาพยนตร์ข่าว ภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์เรื่อง เป็นต้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ที่อยู่ในข่ายการพิจารณาผลงาน ได้แก่ ผู้สร้าง ผู้กำกับ นักพากย์ นักแสดง ผู้ประพันธ์เพลงประกอบ

ภาพยนตร์ คือ ไม่ว่าจะเป็นชนิดฟิล์มเนกาทิฟ (negative) หรือฟิล์มโพซิทิฟ (positive) ซึ่งได้ถูกถ่าย อัด หรือกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ปรากฏรูปหรือเสียงหรือทั้งรูปและเสียง เป็นเรื่องหรือเหตุการณ์ หรือข้อความอันจักถ่ายทอดรูปหรือเสียง หรือทั้งรูปและเสียงได้ด้วยเครื่องฉายภาพยนตร์หรือเครื่องอย่างอื่นทำนองเดียวกัน และหมายความตลอดถึงฟิลม์ซึ่งได้ถูกถ่าย อัด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ปรากฏสี เพื่ออัดลงในฟิลม์ชนิดดังกล่าว เป็นสาขาที่สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะในรูปของภาพเคลื่อนไหว และเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงภาพยนตร์ คือ ภาพนิ่ง หลาย ๆ ภาพเรียงติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อนำเอาภาพนิ่งเหล่านั้นมาฉายดูทีละภาพด้วยอัตราความเร็วในการฉายต่อภาพเท่า ๆ กัน ภาพนิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องกันเป็นธรรมชาติ

  • ยังไม่ต้องดูเนื้อหา เอาแค่การเขียนก่อน มันคืองานตัดแปะน่ะ ย่อหน้าแรกจากเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
    ย่อหน้าสองจากวิกิพีเดียไทย แล้วเพิ่มคำว่า ภาพยนตร​์ หมายถึง/คือ เข้าไปต้นประโยค ให้มันดูดีขึ้น(?)
  • ที่เนื้อหา ย่อหน้าแรกที่ตัดมาแปะ จริง ๆ แล้วไม่ได้เป็นความหมายหรือเรื่องเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่เป็นเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ … คือมันผิดฝาผิดตัว
  • เข้าใจว่า KPI 80,000 เรื่อง (ฉลอง 80 พรรษา™ [cliché]) นี่คงนับจำนวนเอาอย่างเดียว เนื้อหาจะยังไงก็ช่างมันเถอะ เพราะนี่มันงานการกุศล (อาสาสมัคร ทำฟรี?)
  • เด็กและเยาวชน (ตามภาษาใน หลักการและเหตุผล ของโครงการ) จะได้อ่านอะไรก็ช่างเขาเถอะ ถูกบ้าง ผิดบ้าง มีสาระบ้าง ไม่มีบ้าง ก็ดีกว่าไม่มีอะไรให้อ่าน (เช่น ให้เด็กเข้าใจว่า ภาพยนตร์คือ สื่อเคลื่อนไหว…ที่สร้างขึ้นเป็นระบบมาตรฐานโดยฝีมือคนไทย เป็นต้น)
  • ที่สัญญาอนุญาต เนื้อหาย่อหน้าสอง นำมาจากวิกิพีเดียไทย ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งคือ ต้องแสดงสัญญาอนุญาตให้เห็นชัดเจนด้วย แต่หาไม่พบในเว็บไซต์คลังปัญญาไทย
  • มันเป็นวิกิ ใคร ๆ ก็ใส่เนื้อหาได้ ตาม log แจ้งว่า ผู้ใส่ 2 ย่อหน้านั้น คือ Sawitree.bunditcenter (ชื่อพ้องกับ บัณฑิตเซ็นเตอร์ หรือ kapook.com หนึ่งใน พันธมิตรเนื้อหา และเป็นโฮสต์ให้กับเว็บไซต์คลังปัญญาไทย)
    Kapook.com links inserted to PanyaThai wiki
  • น่าสนใจ ที่คำว่า ภาพยนตร์ คำแรกเลย ลิงก์ไปหาหน้าเว็บภาพยนตร์ของกระปุก.คอม http://www.movie.kapook.com/ เราสามารถสงสัยได้ว่าหน้าเว็บดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องหรือคุณค่าในทางเนื้อหามากน้อยเพียงใด ที่จะถูกบรรจุไว้ในบทความนี้ (เพื่อการเปรียบเทียบ บทความ ภาพยนตร์ ในวิกิพีเดียไทย มีลิงก์ไปหา 2 เว็บไซต์ คือศูนย์รวมข้อมูลหนังไทยของมูลนิธิหนังไทย กับเว็บไซต์ IMDb) อย่างไรก็ตามการมีลิงก์จากคลังปัญญาไทยไปยัง kapook.com น่าจะทำให้มีทราฟฟิกวิ่งไปหา รวมถึงมีผลในทาง ranking อันดับเว็บด้วย (SEO)
  • มันเป็นวิกิ ใคร ๆ ก็ใส่เนื้อหาได้ ตาม log แจ้งว่า ผู้ใส่ลิงก์นั้น คือ Sweetmuffin
    Kapook.com links inserted to PanyaThai wiki
  • ถ้าไปดูปูมแก้ไขบทความของ Sweetmuffin ในคลังปัญญาไทย จะเห็นว่า เต็มไปด้วยการแทรกลิงก์ไปหาหน้าเว็บใน kapook.com เช่น ภูกระดึง, พิพิธภัณฑ์, สมุนไพร, เกย์, …
  • คลังปัญญาไทย จัดทำโดย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยมี กระทรวงศึกษาธิการ Pantip.com Kapook.com เป็นพันธมิตรสนับสนุนเนื้อหา
  • หลังจากที่โครงการนี้ เจ๊ง ดันไม่เกิด ผ่านไป 3 ปี รัฐบาลไทยมีโครงการ คลังความรู้ อันใหม่อีกแล้ว จ้างบริษัท AsiaOnline ใช้คอมพิวเตอร์แปลบทความในวิกิพีเดียอังกฤษ ให้เป็นไทย
    คาดว่าจะเป็นโครงการถลุงเงินเล่นเช่นกัน (contribution ในแง่เทคโนโลยี machine translation นั้น อาจจะมี เป็นตัวทดสอบ เป็น dataset สำหรับการวิจัยต่อไปในอนาคตก็ว่าไป แต่ในแง่การเป็นสารานุกรม-ที่แก้ไขปรับปรุงได้-นั้นไม่น่าจะรอด ไม่มีชุมชนเข้าไปร่วมด้วย และสำหรับกรณีเทคโนโลยีการแปลภาษา ใครจะเป็นผู้ได้ร่วมถือสิทธิ์ในเทคโนโลยีนั้น? … กรณีนี้รัฐไทยเอาเงินไปลงด้วย)
  • อย่างไรก็ดี โครงการคลังปัญญาไทย ก็เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะหน้า หลักการแลเหตุผล ที่จะเป็นตัวอย่างให้เราศึกษาได้ว่า
    ความเชื่อหรือมายาคติเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตชนิดไหน ที่เราสามารถนำมาใช้เขียนเพื่อเป็นข้อเสนอโครงการ เพื่อขอทุนฯลฯ ได้บ้าง สมควรคั่นหน้าเอาไว้อย่างยิ่ง (ความรู้ส่วนหนึ่งที่สกัดได้จากหน้านี้: ภัยทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ไม่เหมาะสม ลามกอนาจาร ความรุนแรง การนัดกันไปฆ่าตัวตายผ่านเว็บไซต์ การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ ถวายเป็นพระราชกุศล พระบรมราโชวาท นวัตกรรม เว็บ 2.0 ความรู้อย่างพอเพียง จิตสาธารณะ … ลองเอาไปใส่ใน proposal ดูนะครับ)
  • เรื่องตรวจสอบก็อย่าไปพูดอะไรมาก คนในวงการเดียวกัน ก็ต้องช่วย ๆ กัน แล้วทุกอย่างที่ทำก็เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินด้วย จะตรวจสอบมาก ๆ คนไทยหรือเปล่า ? มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ คิดลบ ไม่คิดบวก

เพิ่ม 20 ม.ค. 2554 มีผู้แจ้งมา (จาก Facebook) ให้ไปดูที่ท้ายหน้า http://bhumibol.panyathai.or.th/ จะพบเนื้อหาส่วน พระอัจฉริยภาพ ที่ใส่มาตั้งแต่ปี 2550 มีเรื่องพระเจ้าเอกทัศน์ด้วยแฮะ (= เยาวชนไทยจากโรงเรียนทั่วประเทศ ก็เรียนรู้แบบนี้มาได้ 3 ปีแล้ว)

bhumibol.panyathai.or.th

เรื่องนี้โทษใครเป็นรายบุคคลไม่ได้เลยจริง ๆ เพราะลักษณะของวิกิ มันเปิดให้ใคร ๆ ก็เข้ามาแก้ไขได้ (แต่หน้านี้ก็เป็นลิงก์ที่อยู่กลางหน้าแรกเลยนะ หรา) ดังนั้นก็เป็นไปได้ ที่จะถูกป่วน หรือมีเนื้อหาที่ไม่มีคุณภาพถูกใส่เข้ามา อยากได้ของดี ๆ ก็ต้องช่วยกันทำ ว่างั้น

อย่างไรก็ตาม มันก็สะท้อนความล้มเหลวของโครงการเช่นกัน ในการจะสร้างชุมชนขึ้นมา เพื่อพัฒนาเนื้อหาให้มีคุณภาพ

โครงการอย่างวิกิพีเดียไทย ก็ประสบปัญหาเช่นนี้ไม่ต่างกัน มีการตัดแปะเนื้อหาที่ไม่ได้คุณภาพมาใส่อยู่เสมอ ๆ ที่ต่างก็คือ มันมีชุมชนที่จะมาช่วยกันแก้ ช่วยกันเกลา ช่วยกันตรวจสอบ (แล้วมันก็รันของมันมาได้ 8 ปี บนพื้นฐานของงานอาสาสมัครล้วน ๆ มีบทความแล้ว 65,000 บทความ)

พูดง่าย ๆ ว่า ถึงทีมคลังปัญญาไทย จะบอกว่าประสบความสำเร็จในแง่ จำนวนบทความ และจำนวนคนเข้าดู (ซึ่งก็ต้องโน๊ตไว้ด้วยว่า เป็นเชิงปริมาณ ไม่ได้พูดถึงเชิงคุณภาพ) แต่ก็ล้มเหลวในแง่ผลักดันให้เกิดชุมชนเพื่อเนื้อหาคุณภาพ ตามที่บรรยายไว้ในหน้าอธิบายโครงการว่า: สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเองได้ เพื่อให้แหล่งข้อมูลนี้ สามารถขยายตัวได้เร็ว อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่กว้างขวาง หลากหลายและมีคุณภาพ โดยการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในความรู้สาขาต่างๆในเชิงสร้างสรรค์ — ลองดูจากปูมการแก้ไข (ย้อนหลัง 2500 ครั้ง ซึ่งก็ย้อนไปถึงม.ค. 2551 โน่น) มีที่ active อยู่น้อยคนมาก ที่เข้ามาแก้บ่อย ๆ และก็ดูจะหายไปหมดแล้ว

สภาพคลังปัญญาไทยตอนนี้ก็เลยไม่ต่างอะไรกับถังใส่บทความตัดแปะ ที่พอพ้นช่วงเปิดตัว ลงสื่ออะไรกันเสร็จ ก็ทำต่อสักพัก แล้วก็ปล่อยมันไว้อย่างนั้นแหละ (แต่ก็ยังดีกว่าเว็บไซต์หลายอันที่ทำแล้วทิ้งจริง ๆ นะ พวกไม่ต่ออายุโดเมนอะไรแบบนี้) ตลกที่ร้ายกว่าคือ พอเมษายน 2553 มันก็ถูก monetize ใช้ประโยชน์ ด้วยการใส่ลิงก์ในบทความต่าง ๆ ให้ชี้ไปหาเว็บท่าที่โฮสต์เว็บไซต์คลังปัญญาไทยอยู่ (kapook.com) (ซึ่งเรื่องนี้ไม่พบอยู่ใน หลักการและเหตุผล แต่อย่างใด)

มีประโยชน์มั๊ย มี ทุกอย่างมีที่ทางของตัวมันเอง อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่อิสระ เราจะใส่อะไรเข้าไปก็ได้ ประเด็นมันอยู่ที่ว่า คุณจะเคลมอะไร แค่นั้นแหละ เคลมอะไร ไปเพื่ออะไร แล้วสุดท้ายจริง ๆ แล้วคุณทำอะไร

เพิ่ม 20 ม.ค. 2554 14:37 พบว่า เซิร์ฟเวอร์ของคลังปัญญาไทย วันที่ไม่ได้ตั้งให้ตรงกับเวลาจริงนะครับ ที่ตรวจสอบ ณ ปัจจุบัน (จากหน้า ปรับปรุงล่าสุด) เวลาของเซิร์ฟเวอร์วันนี้ (20 ม.ค. 2554) ระบุว่าเป็นวันที่ 25 เมษายน 2547 … หนักข้อเลยครับ สงสัยจะไม่ได้ดูแลจริง ๆ – -“

ทางบ้านส่งมาทาง Google Buzz:

strong-fuckyou

oh-kapook

technorati tags:
,
,
,
,


3 responses to “ตลก ภาพยนตร์ คลังปัญญาไทย "Wisdom Society" [update]”

  1. เมื่อวานเพิ่งอ่านข่าวการลงทุน 10 ล้านบาทในโครงการ asiaonline แล้วสงสัยมากว่าทางท่านๆได้ตัวเลขราคา 10 ล้านมาได้อย่างไร ประเมินความคุ้มอย่างไร (หรืออย่างน้อยที่สุดหากประเมินไม่ได้..ท่านมีหลักการ..ยุทธศาสตร์อะไร..มันสุดปัญญาข้าพเจ้าจะคิดได้จริงๆ) มาอ่านเจอ post นี้ของ @bact แล้วรู้สึกว่ามันเหลือเชื่อจริงๆ พระเจ้า..มันเคยมีโครงการอะไรเยี่ยงนี้แล้วหรือนี่…จังหวะนี้ถ้าตัวข้าพเจ้าเองเป็น Jimmy Wales คงต้องสาวแตกแล้วร้องบรรเลงเพลง…"ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย.."

  2. ว่าแต่มันเกี่ยวอะไรกับ สุดเขตฯ ของน้องเป้สุดหล่อง่า –"

  3. ไปดูสุดเขตมาแล้วชอบ ฮาดี พอดีว่าบทความในคลังปัญญาไทยที่ไปเจอมา คือ "ภาพยนตร์"งั้นก็เปิดด้วยสุดเขตละกัน จะได้ตลก … เกี่ยวมะเผื่อโชคดี มันจะได้ติด search engine ด้วยไงช่วงนี้คนน่าจะค้นคำนี้เยอะ แบบว่า SEO :p

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.