ถ้าคุณไม่ชอบข่าวพวกนั้น … ออกไปข้างนอกและเขียนมันขึ้นเองสิ
เราได้ยินคำว่า ผู้สื่อข่าวพลเมือง
มากขึ้นทุกวัน (ตัวอย่างในเมืองไทย ก็เห็นจะเป็น “นักข่าวพเนจร” ในนสพ.ออนไลน์ประชาไท)
ปรากฎการณ์นี้สำคัญอย่างไร มีพลังจะทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ? บางส่วนจากบทนำของหนังสือ We the Media : Grassroots Journalism by the People, for the People (โดย Dan Gillmor อดีตนักข่าวนสพ., บล็อกเกอร์, และผู้ก่อตั้ง Center for Citizen Media) นี้ น่าจะช่วยให้เราพอเห็นภาพ และจินตนาการถึง โลกที่ผู้สื่อข่าวกับพลเมืองกลายมาเป็นคน ๆ เดียวกัน ได้ง่ายขึ้น
ทิศทาง แนวโน้ม กระแสของ We Media
(สื่อเรา
)
วันที่ 28 ก.ย. 2547 Doc Searls (บรรณาธิการอาวุโสของนิตยสารคอมพิวเตอร์ Linux Journal) ได้โพสต์เว็บล็อกหัวข้อ DIY radio with PODcasting
บอกเล่าความคิดเกี่ยวกับสื่อใหม่ที่ เราเลือกได้ว่าเราจะฟังอะไร เราจะฟังเมื่อไหร่ และเราจะทำอย่างไรให้คนอื่นฟังมันได้เช่นกัน
ในวันเดียวกันนั้น Google ค้นเจอคำว่า podcasts
จำนวน 24 หน้าเว็บ
ต.ค. 2548 หรือหนึ่งปีผ่านไป Google ค้นเจอคำว่า podcasts
จำนวนมากกว่า 100 ล้านหน้าเว็บ!!
ทุกวันนี้ พอดแคสติ้ง กลายเป็นรายการสามัญที่เว็บไซต์ใหญ่ ๆ ทั่วไปจะต้องมี
ปรากฎการณ์ของ We Media
ต้นเดือน กันยายน 2547 ช่องข่าวซีบีเอสนิวส์ของสหรัฐ ออกอากาศรายงานที่ผิดพลาดเกี่ยวกับประวัติ ร.ด. (National Guard) จอร์จ ดับเบิลยู บุช บล็อกเกอร์จำนวนมากได้ท้าทายความน่าเชื่อถือของบันทึกช่วยจำที่รายการนั้นใช้อ้างอิง จนในที่สุดซีบีเอสต้องยอมจำนน เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยบล็อกเกอร์ทั่วโลก (และกรณีนี้อาจจะมีส่วนช่วยให้บุชชนะการเลือกตั้งสมัยที่สอง)
ปลายปี 2547 เกิดเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ข้อมูลและภาพข่าวจำนวนมากที่ออกอากาศตามสื่อทั่วโลก มาจากเว็บล็อกและกล้องวิดีิโอพกพาของนักท่องเที่ยวที่อยู่ในเหตุการณ์จริง
กรกฎาคม 2548 เหตุการณ์วางระเบิดรถไฟใต้ดินในลอนดอน ภาพข่าวประจำวัน เป็นภาพถ่ายมัว ๆ ที่ถูกถ่ายโดยชายคนหนึ่งขณะหนีออกมาจากขบวนรถไฟที่เต็มไปด้วยควัน ด้านหน้าของภาพ เป็นชายอีกคนหนึ่งใช้เสื้อคลุมจมูกและปากเพื่อช่วยหายใจ ภาพนี้ถูกถ่ายด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ และถูกเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์และตีพิมพ์บนหนังสือพิมพ์ทั่วโลก
สิงหาคม 2548 ทันทีหลังเกิดพายุเฮอริเคนแคทรีินา ทีมผู้สื่อข่าวของนสพ. New Orleans Times-Picayune ได้ตั้งเว็บล็อกขึ้นมาเพื่อรายงานสถานการณ์เฮอริเคนโดยเฉพาะ (และใช้หน้าเว็บบล็อกนี้ เป็นหน้าแรกของหน้าข่าวของนสพ.ในขณะนั้น) เว็บล็อกนี้ช่วยให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และกระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนชักชวนกันมาบอกเล่าว่า พวกเขาประสบกับอะไรกันบ้าง ในขณะเดียวกัน บล็อกเกอร์รายหนึ่งที่เว็บชื่อว่า Interdictor ก็เขียนบล็อกและถ่ายทอดวิีดีิโอจากตึกสูง ทำให้คนอื่น ๆ ได้เห็นภาพกว้างว่า ขณะนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น
คืนวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 บล็อกเกอร์จำนวนมากรายการเหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย ผ่านทางบล็อกของตน รูปถ่ายเป็นจำนวนมากถูกถ่ายโดยประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุ และถูกโพสต์ขึ้นบล็อกและเว็บบอร์ด รวมถึงเว็บบล็อกเฉพาะกิจที่เพิ่งเปิดขึ้นในคืนนั้นเช่น 19sep.blogspot.com
จากเหตุการณ์เหล่านี้ เราพบว่า:
- “ผู้สื่อข่าวรากหญ้า/ผู้สื่อข่าวพลเมือง” นอกจากจะรวดเร็วฉับไว (เพราะอยู่ในเหตุการณ์เอง) แล้ว ยังได้รับการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ จากสื่อ “กระแสหลัก” และสาธารณะ
- พลเมืองไม่ได้เป็นเพียงผู้รับข่าวอยู่ทางเดียวอีกต่อไป แต่ยังสามารถร่วมตรวจสอบได้ และยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถเสนอข่าวได้เอง
- อย่างไรก็ตาม ทั้ง “ผู้สื่อข่าวอาชีพ” และ “ผู้สื่อข่าวพลเมือง” ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่อยู่แยกออกจากกัน แต่สามารถเข้าไปอยู่ในกระบวนการเดียวกัน หรือเสริมกันได้
การเสริมกันของผู้สื่อข่าวอาชีพและผู้สื่อข่าวพลเมือง
มีตัวอย่างที่ “แดน” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เข้าร่วมประชุมผู้บริหารบริษัทด้านเทคโนโลยี “PC Forum” และรายงานการประชุมทางเว็บล็อกของตนเป็นระยะๆ ระหว่างนั้น ผู้บริหารของบริษัท Qwest (บ.โทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐ) บ่นถึงความยากลำบากในการเพิ่มทุน แดนรายงานเรื่องนี้ในบล็อกของตน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะที่มูลค่าตลาดของ Qwest ถดถอย แต่ผู้บริหารคนนั้นกลับรวยขึ้น
ในชั่วเวลาไม่กี่อึดใจ ก็มีผู้อ่านรายหนึ่งอีเมลส่งลิงก์ของ Yahoo! Finance มาให้แดน ในลิงก์นั้นรายงานว่า ผู้บริหารรายนั้น เพิ่งจะขายหุ้นของตนได้เงินไป 200 ล้านเหรียญ ในขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทของตนปักหัวดิ่งลง แดนจึงโพสต์ลิงก์นั้นลงไปในเว็บบล็อกของตน
…ทั้งหมดนี้ที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้บริหารรายนั้นยังคงพูดอยู่บนเวที
ในเวลาไม่นาน เรื่องนี้ก็แพร่ไปทั่วทั้งการประชุม (ใครบางคนอ่านบล็อกของแดนระหว่างอยู่ในการประชุม) และบรรยากาศในช่วงที่เหลือของช่วงของผู้บริหารรายนั้น ก็เปลี่ยนไป ผู้ฟังมีท่าทีเย็นชากับผู้บริหารบนเวทีอย่างรู้สึกได้ (ในเวลาต่อมา ผู้บริหารรายนั้นถูกให้ออกจากงาน จากผลงานที่ย่ำแย่)
นี่คือตัวอย่างของ วงจรทำข่าวที่มีทั้งผู้สื่อข่าวอาชีพและผู้สื่อข่าวพลเมืองร่วมกันทั้งสองทาง รวมทั้งแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่สื่อยุคเก่าไม่มีทางทำได้เลย เพราะในวงจรแบบเก่านั้น กว่าผู้อ่านจะได้มีส่วนร่วม ก็ต้องรอให้นสพ.ตีพิมพ์แล้ว (และนั่นคือการประชุมก็ได้จบลงไปแล้ว) ซึ่งจะทำให้ไม่มีทางเกิดเหตุการณ์แบบในตัวอย่างนั้นได้เลย
ได้เวลาผู้สื่อข่าวพลเมืองแล้ว
หากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย – ระบอบที่เน้นการมีส่วนร่วมของพลเมือง
เช่นนี้แล้ว ก็ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่พวกเราควรจะส่งเสริม และลองมาเป็น “ผู้สื่อข่าวพลเมือง” กันดู
เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเราเห็น คิด หรือได้รับผลกระทบ โดยไม่ต้องผ่านสื่อกระแสหลัก-พ่อค้าคนกลางแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีทางเลือกอื่นอีกต่อไป
เราไม่ได้เรียกร้องให้พลเมืองทั้งหมดลุกขึ้นมาทำข่าวกันทุกวันแทนผู้สื่อข่าวอาชีพ หากเราอยากเห็นวงจรการทำข่าวที่พลเมืองมีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่การรับข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน ร่วมตรวจสอบ ร่วมทำข่าวกับผู้สื่อข่าวอาชีพ ไปจนถึงทำข่าวทั้งหมดด้วยตัวเอง
จะมีใครพูดแทน พลเมือง ได้ดีกว่า พลเมืองด้วยกัน ?
“ขอพลังจงอยู่กับคุณ!” 😉
คำสำคัญ
grassroots journalism, grassroots media, citizen journalism, citizen reporter, citizen media, podcasting, vblog, webcasting, videoblogging, RSS, syndication, peer-to-peer, p2p, cyber journalism, participatory journalism, สื่อพลเมือง, ผู้สื่อข่าวพลเมือง, สื่อรากหญ้า, indymedia
อ้างอิง
หนังสือ We the Media: Grassroots Journalism by the People, for the People โดย Dan Gillmor สนพ. O’Reilly ISBN 0-596-00733-7
บทความเกี่ยวข้อง
- คนชายขอบ, กำเนิดอภิมหาอำนาจแห่งที่ 2, onopen, 14 พ.ค. 2550
- mk, สื่อภาคประชาชนหายไปไหน, พลวัต, 7 ก.ค. 2550
- อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์, We Media (2) : “Media 1.5” ความหวังรำไรของสื่อไทย, ประชาไท, 26 ก.ค. 2550
เว็บที่เกี่ยวข้อง
- Ohmy News (เกาหลี), Ohmy News International
- Newsvine
- Wikinews
- IndyMedia
- Southeast Asian Centre for e-Media
- Center for Citizen Media
- และหาเพิ่มได้ใน วิกิพีเดีย
ตีพิมพ์ครั้งแรก 24 ก.ค. 2550 ใน นักข่าวพเนจร
แก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อยสำหรับตีพิมพ์ใน ประชาไท และ พลวัต
เพิ่มบทความเกี่ยวข้อง 27 ส.ค. 2550
โพสต์ใหม่ใน bact.cc 14 ม.ค. 2554