หลายครั้งที่เวลามีการพูดคุย หารือ ระดมความคิด หรือวิพากษ์วิจารณ์ อะไรซักอย่างนึง
สิ่งหนึ่งที่เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ “ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า…” เพื่อเสริมน้ำหนักให้กับสิ่งที่เสนอขึ้นมา
หรือในทางกลับกัน เราก็คงได้ยินบ่อย ๆ (โดยเฉพาะช่วงนี้) ว่า คน ๆ นั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นเรื่องนี้ → ดังนั้นความคิดเห็น/การวิเคราะห์ของเขา จึงเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือ เชื่อถือไม่ได้ ..
เช่น ถ้ามีใครซักคนให้ความเห็นถึงเรื่องเศรษฐกิจ (หรืออะไรก็ตาม) ไม่ว่าจะแง่มุมไหนก็ตาม
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแง่มุมนั้น ก็มีวิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้ความเห็นนั้น ดูด้อยค่า/ไร้สาระ แค่บอกว่า “คนคนนี้ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์”
หรือเรียกกันง่าย ๆ ว่า “ดิสเครดิต” (ทำให้หมดความน่าเชื่อถือ) น่ะแหละ
— โดยไม่ต้องมีคำอธิบายอื่่นเพิ่มเติมเลย แค่บอกว่าความเห็นนี้ไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะ ‘เบรก’ ความคิดเห็นนั้น ๆ
รวดเร็ว ง่าย สะดวก … และดูเหมือนว่ามันจะได้ผลซะด้วยสิ
ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ = ไม่น่าเชื่อถือ ?
ผู้เชี่ยวชาญ = น่าเชื่อถือ ?
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ผู้เชี่ยวชาญ ?
Between 1984 and 1999, for instance, almost 90 percent of mutual-fund managers underperformed the Wilshire 5000 Index, a relatively low bar. The numbers for bond-fund managers are similar: in the most recent five-year period, more than 95 percent of all managed bond funds underperformed the market. After a survey of expert forcasts and analyses in a wide variety of fields, Wharton professor J. Scott Armstrong wrote, “I could find no studies that showed an important advantage for expertise.” …
from James Surowiecki’s The Wisdom of Crowds (p.40-41)
ในช่วง ค.ศ. 1984-1999 กองทุนรวมและกองทุนพันธบัตรต่าง ๆ (ที่บริหารงานโดย .. แม่นแล้ว .. ผู้เชี่ยวชาญ) ในตลาดสหรัฐ โดยส่วนใหญ่แล้ว ดำเนินงานได้ผลต่ำกว่าที่ตลาดทำได้ คิดเทียบกับดัชนี Wilshire 5000 (ตลาดประกอบไปด้วยคนสารพัด เชี่ยวชาญเรื่องกองทุนบ้าง เชี่ยวชาญเรื่องอื่นบ้าง หรือก็ไม่เชี่ยวชาญอะไรเลย ปน ๆ กัน)
และจากการสำรวจการพยากรณ์และวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ กัน เจ. สก็อตต์ อาร์มสตรอง, ศาสตราจารย์ประจำ Wharton, เขียนไว้ว่า ผมไม่พบการศึกษาใดที่แสดงความได้เปรียบที่สำคัญของความเชี่ยวชาญ
(แต่ผู้ที่กล่าว .. ก็เป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เช่นกัน บอกไว้ก่อน :P)
ไม่ได้บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญ/ความเชี่ยวชาญ ไม่สำคัญ
แต่เราให้ความสำคัญกับมันมากเกินไปรึเปล่า ?
(หรือ ถ้าจะต่อความยาว: “แล้วอย่างไหนถึงเรียก เชี่ยวชาญ ?”)
ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทุกอย่าง ถ้ามันเป็นเชิงสร้างสรรค์/ติเพื่อก่อ ถึงจะไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่างน้อยก็น่าจะหยุดฟังและพิจารณาบ้าง อาจพบแง่มุมที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายลืม/ไม่ทันนึกก็ได้ ต่างคน ต่างพื้นฐาน ต่างอาชีพ ต่างความสนใจ ความคิดเห็นย่อมหลากหลาย .. และนั่นก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
อย่าไปตีตราความคิดเห็นใดว่า “ไม่ได้มาจากผู้เชี่ยวชาญ” แล้วก็มองข้ามมันไปเลย นั่นคงดูมักง่ายและน่าเสียดายไปหน่อย
.. หลายครั้งเราสนใจกันแต่ว่า ใครเป็นคนพูด โดยลืมที่จะสนใจว่า เขาพูดอะไร ..
และถึงแม้ ความเชี่ยวชาญจะสำคัญมากแค่ไหน เพียงใด แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนรวม เรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคม ต่อคนทุก ๆ คน เราก็ไม่น่าจะโยนภาระไว้ให้กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพียงกลุ่มใดกลุ่มนึง
แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ “ผู้ไม่เชี่ยวชาญ” ทั้งหลาย (แต่ดันเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น และมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง) สามารถ/ควรจะเข้ามามีส่วนร่วม
อย่างถ้าเป็นบริษัท ผู้ถือหุ้นยังมีสิทธิ์จะดูรายงานการดำเนินงานได้ มีสิทธิ์ซักถามคณะกรรมการบริหารในการประชุมประจำปีได้ .. แน่นอน ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญใด ๆ
เอ๊ะ หรือคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ถือหุ้น ไทยแลนด์อิงค์ หว่า ? ลืมไป 😛
ของแถม: คำขวัญวันเด็กปีนี้
“ อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด (แต่ห้ามเถียงผู้เชี่ยวชาญและนายกนะจ๊ะหนู ๆ) ”
3 responses to “Expert. Who ?”
พูดงี้ได้ไง คุณไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้เชี่ยวชาญนะ… เออ… ผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้เชี่ยวชาญด้านผู้เชี่ยวชาญเหมือนกันนี่หว่า
ผู้เชี่ยวชาญน่าจะมีไว้ท้วงติงนะครับ เพราะพวกเขาเหล่านั้นย่อมต้องรู้ประวัติศาสตร์ ผลกระทบ หรือกระบวนการต่างๆที่มีการนำเสนอไว้นั้นในอดีตเคยเกิดหรือทำแล้วได้ผลเป็นอย่างไร การบริหารงานหรืออะไรนั้นก็อีกเรื่อง เพราะถ้าทำตามผู้เชี่ยวชาญหมดก็ไม่มีการเสี่ยง แตกแถวยาก เพราะผู้เชี่ยวชาญก็พูดหรือเสนอแนะตามสิ่งที่รู้ แต่กรณีนี้ไม่เหมือนพวกถือแก้วเบียร์แล้วอ้างศีลห้านะครับ
วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ก็เกิดมาจากฝีมือของ "เทคโนแครต" ระดับชาติทั้งนั้น…