จัดโดยทีวีช่อง Channel 4 ของที่ยูเคนี่ ทำเป็นรายการโทรทัศน์ สัปดาห์ละทศวรรษ ไล่ย้อนไปตั้งแต่ 90’s จนถึง 50’s
ได้ดูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นของ 90’s (ซึ่งเป็นยุคเดียวที่ศิลปินที่ถูกเสนอชื่อเข้ามา เราเคยฟังทั้งหมด, ของ 80’s นี่ เคยฟังประมาณครึ่งเดียว, 70’s ยังไม่รู้ รอดูอาทิตย์หน้า) ก็ดูไปพิมพ์ไป กะเก็บไว้อ่านเองด้วย (เพิ่งมารู้ตอนจบรายการว่า เค้ามีบนเว็บให้อ่าน -_-“) ไหนๆ แล้ว ก็เอามาลงบล็อกละกัน
แต่ละทศวรรษ เค้าก็จะเสนอชื่อศิลปินเข้ามา 10 ราย, โดยมีหลักกว้างๆ ว่า ต้องมีผลงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี และไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินจากยูเค ขอให้ฮิตในยูเคก็พอ .. โดยคนที่คัดเลือกนี่ก็จะเป็นศิลปินด้วยกันเอง ดีเจ นักจัดรายการ นักข่าว และคนในอุตสาหกรรมเพลง ร่วมกันคัดเลือกศิลปิน 10 ราย ที่เป็นตัวแทนของดนตรีของแต่ละทศวรรษ เค้าใช้คำว่า influential คือมีอิทธิพลทางความคิด/อารมณ์ของคนในยุคนั้นๆ
หลังจากนั้น ก็จะให้ผู้ชมโหวต จาก 10 รายนั้น เพื่อหาตัวแทนของแต่ละทศวรรษ โดยตัวแทนของแต่ละทศวรรษ รวมทั้งหมด 5 รายนี้ ก็จะไปร่วมกับ ‘สมาชิกก่อตั้งกิติมศักดิ์’ (Founding Legendary Members) ที่ถูกเลือกเข้ามาโดยอัตโนมัติตั้งแต่แรก 5 ราย คือ Madonna, Elvis Presley, U2, Bob Marley และ The Beatles
ดูจากชื่อของสมาชิกก่อตั้งแล้ว ก็เห็นสมควรดี เพราะถ้าจะจับเอาศิลปินเหล่านี้ ไปร่วมโหวตกับแต่ละยุค ก็ดูจะเป็นโชคร้ายของศิลปินรายอื่นๆ ในยุคนั้นไปเลย คงจะหาใครมากินลำบากล่ะ เพราะแต่ละรายก็ยิ่งใหญ่/มีอิทธิพลต่อความคิดของคน (Britons) ในยุคนั้นๆ เอามากๆ
เกริ่นกันมามากเกินพอแล้ว ขอเชิญพบกับ 10 ศิลปินที่ถูกเสนอชื่อ เพื่อเป็นตัวแทนของยุค 90 ได้เลยครับ
Oasis — โอเอซิส วงดนตรีบริทพ็อพที่นำโดยสองพี่น้องกัลลาเกอร์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเกาะบริเตนในยุคนี้ อัลบั้มแรกของพวกเขา Definitely maybe ถือเป็น “greatest debut album of all time” (อัลบั้มเปิดตัวยอดเยี่ยมตลอดกาล) ส่วนอัลบั้ม What’s the story morning glory นั้น ก็ถือเป็นอัลบั้มที่มียอดขายสูงสุด และยังขายดีจนทุกวันนี้ แม้อัลบั้มชุดหลังๆ ของโอเอซิสจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย แต่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่า พวกเขาคือวงดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของบริทพ็อพไปเสียแล้ว
Nirvana — เนอร์วาน่า กรันจ์ร็อคจากซีแอตเทิล ซึ่งไม่เพียงข้ามน้ำข้ามทะเลจากสหรัฐมาดังถึงยูเคเท่านั้น แต่ยังดังไปทั่วโลก จนดนตรีสไตล์นี้ ถูกเรียกโดยทั่วไปว่า ซีแอตเทิลซาวนด์ ตามชื่อรัฐบ้านเกิดของเนอร์วาน่า.
ดนตรีของเนอร์วาน่าเหมือนเป็นการระเบิดระบายปลดปล่อยสิ่งต่างๆ ที่กดทับความรู้สึกสิ้นหวังของวัยรุ่นในยุคนั้นออกมาอย่างกระแทกกระทั้น เสียงแผดร้องในดนตรีนั้นฟังเหมือนผู้ชนะ แต่น้ำเสียงลึกๆ เหมือนคนที่ขาดและยังหาอะไรบางอย่างในชีวิต Smell likes teen spirit คือเพลงที่เปลี่ยนวงการดนตรีไปในชั่วข้ามคืน (the single that change the music world), ส่วนอัลบั้ม Nevermind นั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นอัลบั้มที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นเรา (the album of our generation).
Robbie Williams — ร็อบบี้ วิลเลี่ยมส์ ทิ้ง Take That วงบอยแบนด์ที่ดังที่สุดในขณะนั้นไว้เบื้องหลังอย่างไม่แยแส และไม่เคยหันกลับไปมองมันอีกเลย.
เขาคือหนึ่งในศิลปินที่มีซิงเกิ้ลฮิตมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น Angels, No regrets, Rock DJ, Millenium และ Strong การแสดงสดของเขาทุกครั้งนั้นยิ่งใหญ่ และเต็มไปด้วยพลัง เขาคือผู้สรรค์สร้างความสุขที่ครบเครื่อง (The best all round entertainer) ไม่ว่าจะหยิบจับเพลงไหนขึ้นมาร้อง ก็สามารถทำได้ดีเสมอ อัลบั้ม Swing when you’re winning นั้นพิสูจน์ได้ถึงคำพูดนี้ เหมือนกับศิลปินที่ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ ร็อบบี้ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ Escapology เหมือนกับที่ใบ้ไว้ในชื่ออัลบั้ม นี่คืออัลบั้มที่ทิ้งภาพ ร็อบบี้ วิลเลี่ยมส์ จากอัมบั้มก่อนๆ ไว้เบื้องหลัง. ไม่บ่อยนัก ที่จะมีศิลปินเดี่ยวคนไหน ที่สามารถครองใจคนทั่วไปได้ทั้งชายและหญิง “เต็มไปด้วยสเน่ห์” (Charismatic) คือคำสดุดีต่อศิลปินคนนี้
Blur — (ในตอนแรกมี 3 วงที่ใกล้เคียงกัน คือ Blur, Manic Street Preachers และ Pixies แต่สุดท้าย คณะกรรมการตัดสินใจเสนอชื่อ Blur) เบลอ วงบริทพ็อพรุ่นใหม่ที่ยิ่งใหญ่ เป็นเหมือนสูตรแห่งความสำเร็จของวงดนตรี สมาชิกแต่ละตำแหน่งล้วนมีความสามารถและพรสวรรค์
เบลอสร้างเสียงและสไตล์ใหม่ๆ ให้กับดนตรี และเป็นผู้สร้างสำเนียงและภาพของบริทพ็อพที่เรารู้จักในทุกวันนี้
ไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาในวงนี้ แต่ละอัลบั้มล้วนมีสำเนียงที่แตกต่างกันไป Girls and Boys คือเพลงที่ดังเป็นพลุแตก และถูกเปิดบ่อยที่สุดในคลับยุคนั้น ส่วนซิงเกิ้ล Song 2 นั้นคือเบลอในสำเนียงใหม่ ใหม่ เหมือนที่เคยเป็นตลอดมา และตลอดไป
Dr. Dre — ดร. เดร เพลงฮิปฮอปในแบบที่เราฟังกันอยู่ในยุคนี้ ล้วนมีอิทธิพลมาจากงานของ ดร. เดร ทั้งสิ้น ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ดร. เดร นั้นนอกจากจะออกผลงานของตัวเองแล้ว ยังทำงานเพลงให้กับศิลปินฮิปฮอปต่างๆ เป็นจำนวนมาก Eminem คือหนึ่งในศิลปินที่เป็นผลงานของ ดร. เดร. ดร. เดร ได้ทำให้ดนตรีฮิปฮอปเป็นที่นิยมในวงกว้าง และกลายเป็นดนตรีของคนรุ่นใหม่ ความนิยมในกระแสฮิปฮอปนั้นขยายวงไปจนกระทั่งดนตรีแนวอื่นๆ ก็ซึมซับฮิปฮอปเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตัว กล่าวได้ว่า ดร. เดร คือผู้เปลี่ยนสไตล์ดนตรีของยุค 90
Spice Girls — สไปซ์เกิร์ล เกิร์ลกรุ๊ปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล Wanna be ซิงเกิ้ลสุดฮิตของพวกเธอ ขึ้นอันดับ 1 ในชาร์ตของ 31 ประเทศทั่วโลก ตามมาด้วยอีก 6 ซิงเกิ้ล ซึ่งขึ้นอันดับ 1 ทุกตัว
อัลบั้มของพวกเธอนั้นเป็นอัลบั้มที่ขายได้เร็วที่สุดทั่วโลก และเป็นสถิติที่เหนือ The Beatles
พวกเธอคือสัญลักษณ์ คือการประกาศ “พลังหญิง” (Girl Power) และคำประกาศนี้ก็ดังก้องไปทั่วโลก
ในยุค 90 โลกแห่งเพลงป็อป คือ Spice World ไม่มีคำอะไรจะอธิบายความโด่งดังของพวกเธอไปได้มากกว่าคำว่า “ปรากฏการณ์” (Phenomenal)
Prodigy — โพรดิจี้ คือผู้นิยามแนวดนตรีเรฟ (rave) จากส่วนผสมของดนตรีเต้นรำอิเลกทรอนิกส์และพังค์ร็อค จริงๆ แล้ว ถ้าจะพูดให้ถูก พวกเขาคือตัวแทนของวัฒนธรรมเรฟเลยทีเดียว ซิงเกิ้ล Firestarter คือการประกาศตัวตนของโพรดิจี้ ในขณะที่ The fat of the land คืออัลบั้มที่ขายได้เร็วที่สุดตลอดกาลของยูเค และยังคงขายดีจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ โพรดิจี้คือตัวอย่างของวงที่ไม่ต้องเดินตามกระแสหลัก หากสร้างแนวและกระแสของตัวเองขึ้นมาแทน พวกเขามีซิงเกิ้ลติดชาร์ต 20 อันดับแรกถึง 14 ซิงเกิ้ล ในจำนวนนี้เป็นซิงเกิ้ลอันดับหนึ่ง 2 ซิงเกิ้ล และมีอัลบั้มติดอันดับหนึ่ง 3 อัลบั้ม ไม่ต้องสงสัยเลยว่า นี่คือวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทศวรรษนี้
Radiohead — เรดิโอเฮด ยืนหยัดอยู่เหนือแฟชั่นและกระแสทั้งปวง พวกเขาคือวงอัลเทอเนทีฟร็อคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนเกาะนี้ในยุค 90 Creep ซิงเกิ้ลที่ดังที่สุดของพวกเขา คือบทประพัทธ์ที่สวยงาม ส่วนอัลบั้ม OK Computer นั้น ก็คือการปฏิวัติแนวเพลงของตัวพวกเขาเอง แนวเพลงของเรดิโอเฮดนั้นวิ่งไกลไปกว่ายุคของพวกเขาเสมอ และสร้างทางให้คนอื่นๆ เดินตาม
พวกเขามีอัลบั้มติดอันดับหนึ่งในยูเค 4 ชุด ควา่มสำเร็จของเรดิโอเฮดนั้นแผ่ขยายออกไปไกลกว่าเกาะบริเตน เรดิโอเฮดคือวงร็อคไม่กี่วงจากเกาะนี้ ที่สามารถข้ามไปโด่งดังในสหรัฐได้ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่แม้แต่ โอเอซิส และ ร็อบบี้ วิลเลี่ยมส์ ยังไม่เคยได้สัมผัส. ถ้าจะให้อธิบายเรดิโอเฮดในหนึ่งคำ คำๆ นี้คงเป็นคำที่ดีที่สุด “ต้นตำรับ” (Genuine)
Red Hot Chili Peppers — วงที่มีผลงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไม่มีวงร็อคในยุคนี้วงไหนจะใหญ่ไปกว่า เรดฮอตชิลี่เป็บเปอร์ส คอนเสิร์ตของชิลี่เป็ปเปอร์สคือการแสดงสดที่ขายบัตรได้เยอะที่สุดในโลก
Under the bridge คืองานชิ้นเยี่ยมที่เข้าขั้นคลาสสิกไปแล้ว เดอะเป็ปเปอร์สมีอัลบั้มติดอันดับหนึ่งในยูเคสองอัลบั้ม ด้วยสไตล์ดนตรีที่เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของฟังก์และพังค์ร็อค สำเนียงกีตาร์และเบสเฉพาะตัว บวกกับสไตล์การร้องปนแร็พ ชิลี่เป็ปเปอร์สสร้างสำเนียงดนตรีร็อคของตัวเองขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อวงร็อคชื่อดังรุ่นหลังๆ อย่าง Korn, Rage Against the Machine และ Limp Bizkit
Missy Elliot — มิสซี่ เอเลียต พูดได้ว่าศิลปินฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีหญิงที่โด่งดังในยุคนี้ทั้งหมดนั้น เธอมีส่วนร่วมแทบทุกคน มิสซี เอเลียต สร้างสรรค์เสียงเพลงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีให้แต่งต่างไปจากเดิม นอกเหนือจากการโปรดิวซ์ แร็พและแต่งเพลง เธอยังเชี่ยวชาญในการผสมผสานเสียงใหม่ๆ จากดนตรีแนวอื่นๆ เข้ามาทำให้ฮิปฮอปมีสเน่ห์ ไม่เฉพาะงานเบื้องหลังเท่านั้นที่เธอทำได้ดี ในจำนวน 30 ซิงเกิ้ลยอดฮิตของยูเค มีผลงานเดี่ยวของเธอถึง 7 ชิ้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงงานที่ร่วมกับศิลปินอื่นๆ อีก
และนั่นก็คือ 10 ศิลปินที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาทั้งหมด (ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะเขียนยาวแบบนี้นะ -_-“)
แล้วคุณคิดว่าใครใน 10 รายนี้จะได้รับการโหวตมากที่สุดจากชาวบริตันทั้งหลาย? หรือคิดว่ามีใครสมควร/ไม่สมควรได้รับการเสนอชื่อ? และสุดท้ายแล้ว ถ้าให้เลือกศิลปินในดวงใจมาหนึ่งรายจากยุค 90 นี้ คุณจะเลือกใคร?
เพิ่ม: ประกาศแล้ว
3 responses to “UK Music Hall of Fame – The 90’s”
Oasis sucks, Shed7 rulez.PS. my 2 satangs opinion has nothing todo with the fact that i'm wearing Prodigy pajamas.
Nirvara สุดยอด…
เคยไปดูร็อบบี้ตอนมาเมืองไทย