เมื่อโลกใหม่ดิ้นรนจะบังเกิด และโลกเก่ากำลังตาย ?


Anthropology News Volume 51, Issue 4, April 2010 ปีที่แล้วนี่เอง เป็นฉบับว่าด้วย “มานุษยวิทยาและวารสารศาสตร์”

วันจันทร์ที่ผ่านมา [16 พ.ค.] ไปงาน Public forum: Reflection for the Thai Media in the post-2010 political violence เป็นเวทีสาธารณะจัดโดย สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ร่วมกับสมาคมนักข่าวฯ และสถาบันข่าวอิศรา

มีหลายคนพูดถึงจริยธรรมสื่อ ถึงเรื่อง objectivity ที่ “เป็นมาตรฐาน” ของสื่อมวลชน บางคนก็ว่าจริยธรรมมันต้องมีจริยธรรมเดียว จะสื่อเก่าสื่อใหม่ก็ตาม ไม่งั้นก็ไม่ใช่สื่อมวลชน เป็นสื่อเฉพาะกลุ่ม เป็น “สื่อเทียม” บางคน (รวมถึงผมเอง) ก็ว่า อย่าเอาคุณค่าที่สื่อเก่าเห็นว่าดีว่าชอบ มาครอบงำกดทับสื่อใหม่

สมชัย สุวรรณบรรณ กรรมการนโยบาย ThaiPBS ที่เพิ่งเขียนบทความเรื่อง “สื่อชนเผ่า” ลงเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยไปเมื่อไม่นานนี้ ก็เคยเขียนบทความลงกรุงเทพธุรกิจไว้เมื่อต้นปีว่า “สื่อจะต้องยึดถือหลักภาวะวิสัย objectivity”1 ถ้าไม่ยึดหลักนี้ ก็เป็น “สื่อเฉพาะพวก” (partisan press) หรือ “สื่อชนเผ่า” (tribal media)2

แต่อะไรคือ objectivity ที่คนเหล่านี้หมายถึง ? มันมี objectivity ที่เป็นหนึ่งเดียว สากล และข้ามกาลเวลาอย่างที่นักวิชาชีพหลายคนเขาพยายามจะบอกไหม ?

พอพูดถึง “ชนเผ่า” วิญญาณน้อย ๆ ของนักเรียนมานุษยวิทยามันก็สะกิดเรียกนะครับ อะไรมันจะผีเน่าโลงผุไปกว่านี้

ประเด็นแรกสุดเลยที่ผมจำได้ว่าเรียนในชั้นเรียนมานุษยวิทยา ก็คือเรื่อง ภววิสัย/วัตถุวิสัย (objectivity) และ อัตวิสัย (subjectivity) ซึ่งดูว่าผมเองจะมีใจโอนเอนไปทาง อัตวิสัย หรือ อัตวิสัยร่วม (inter-subjectivity) เสียมากกว่า ภววิสัย

ในฐานะผู้สังเกต ผมเชื่อว่าตัวเราเองก็หนีไม่พ้นการให้คุณค่ากับสิ่งรอบ ๆ ตัวโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

ดังนั้นอย่าทำเหนียมทำเนียน หลอกตัวเองหรือคนอื่นว่าสิ่งที่เรารายงานหรือบันทึกนั้นมันเป็นภววิสัย บอกกันตรง ๆ ไปดีกว่า ว่ามันเป็นอัตวิสัย มีอคติ จากนั้นก็ไปแสดงให้เห็นว่ามันมีอคติตรงไหนอย่างไร ให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้คนอ่านได้ทราบอย่างชัดเจน

David Weinberger (@dweinberger) ซึ่งตอนนี้เป็นนักวิจัยอยู่ที่ศูนย์เบิร์กแมนเพื่ออินเทอร์เน็ตและสังคม เสนอไว้ในบทความ Transparency is the new objectivity ว่า ความโปร่งใสและการเปิดเผยกระบวนการทำงาน จะเป็นสิ่งที่มาทดแทนภววิสัย และเราพ้นจากยุคของกระดาษ (Age of Papers) มาสู่ยุคของลิงก์ (Age of Links) แล้ว ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้ที่จะทำให้ข่าวนั้นน่าเชื่อถือ ด้วยการลิงก์ไปยังที่มาของข้อมูล ให้ผู้อ่านตรวจสอบเองได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ในสมัยก่อนที่ข่าวยังพิมพ์บนกระดาษ (ทำให้ผู้อ่านต้องเชื่อใจในนักข่าว นั่นเป็นพื้นที่ที่ authority ทำงาน ซึ่งในปัจจุบัน สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว)

Dan Gillmor (@dangillmor) นักหนังสือพิมพ์ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับสื่อพลเมือง We the Media: Grassroots Journalism By the People, For the People ก็พูดคล้าย ๆ กัน เขาเห็นว่าแนวคิดเรื่องภววิสัยนั้น เป็นสิ่งที่เพิ่งจะถูกสร้างมาเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง ตัวมันเองก็มีปัญหา และเขาก็คิดว่าเราทำไม่ได้หรอกในฐานะมนุษย์ที่ย่อมมีอคติ ในบทความ The End of Objectivity เขาเสนอว่านอกจากเรื่อง ความโปร่งใส แล้ว ยังมีอีก 3 ตัวคือ ความละเอียดถี่ถ้วน ความเที่ยงตรง และความเป็นธรรม ที่เขาเสนอว่า ถ้าทำ 4 อย่างนี้ร่วมกัน ก็น่าจะแทนภววิสัยได้

(ประเด็นเรื่องการเปิดเผยแหล่งที่มาของข้อมูล ดูต่อเรื่อง วิกิลีกส์กับวารสารศาสตร์, วารสารศาสตร์ข้อมูล, และ open public data – ข้อมูลเปิดภาคสาธารณะ)

การเปิดเผยแบบนี้แหละคือคุณค่าที่เราจะยอมรับด้วยกันได้ James Poniewozik (@poniewozik) นักข่าวของ TIME แนะนำว่านักข่าวต้องไม่ซ่อนอัตวิสัยของตัวเอง และปิดท้ายบทความของเขาว่า “วันเวลาแห่งการทำราวกับว่าบรรดานักหนังสือพิมพ์นั้นเป็นหุ่นยนต์ผลิตข่าวที่ไม่มีอารมณ์นั้นจบลงแล้ว แล้วนั่นก็เป็นเรื่องดี ความน่าเชื่อถือที่สร้างบนความเปิดเผยนั้น ย่อมแข็งแรงกว่าความน่าเชื่อถือที่สร้างบนนิยายที่ตกลงให้เชื่อร่วมกัน” (The days of pretending that journalists are dispassionate infobots are ending. And that’s good: trust built on openness is stronger than trust built on an agreed-upon fiction.)

นี่อาจจะคล้ายกับที่นักมานุษยวิทยาพยายามอธิบายขั้นตอนการเข้าไปสู่สนาม ความสัมพันธ์ของผู้เขียนกับผู้คนในสนาม การได้มาซึ่งข้อมูล ความรู้สึกของผู้เขียน ฯลฯ ที่ปรากฏอยู่ในการเขียนชาติพันธุ์นิพนธ์ นั่นคือมันไม่ได้พยายามบอกว่าสิ่งที่เล่านั้นปราศจากคุณค่าการตัดสิน หากแต่อธิบายว่า ด้วยวิธีการไหนและในเงื่อนไขอะไรที่ข้อมูลเหล่านี้ถูกทำให้ปรากฏ

หรือถ้าพูดถึงการรายงานการประเมินต่าง ๆ มันก็จำเป็นต้องมีส่วนหนึ่ง ที่อธิบายว่าใช้ตัวชี้วัดอะไรบ้าง ทำไมถึงเลือกใช้ตัวชี้วัดพวกนั้น และวิธีการวัดวัดยังไง วัดตอนไหน ในเงื่อนไขอะไร ฯลฯ คือถึงจะบอกว่าการประเมินนี้ “เป็นภววิสัย” ไม่เข้าข้างใคร ทำไปตามตัวชี้วัดบนกระดาษ แต่เราปฏิเสธได้ไหมว่า ตัวชี้วัดและการเลือกตัวชี้วัดนั้น ไม่ใช่เรื่องอัตวิสัยในตัวมันเอง ?2

ไม่ว่าจะ new objectivity หรือ end of objectivity (หรือ “Old Objectivity is dead. Long live the Objectivity.”) ประเด็นก็คือว่านิยามของภววิสัยมันเปลี่ยนได้ ดังนั้นการพูดว่างานชิ้นนี้ “มีภววิสัย” ลอย ๆ มันไม่ได้ช่วยอะไร สิ่งที่จะช่วยคือ แสดงให้เห็นสิว่างานชิ้นดังกล่าวมีที่มาอย่างไร หรืออะไรที่คุณนับว่าเป็น “ภววิสัย” ? เปิดให้เห็นกระบวนการการทำข่าวของคุณสิ เปิดให้เห็นกระบวนการประเมินของคุณสิ

การแสดงกระบวนการทำข่าวให้เห็น ทำให้ผมนึกถึงบทความอีกชิ้นคือ Product v. process journalism: The myth of perfection v. beta culture เขียนโดย Jeff Jarvis (@jeffjarvis) นักข่าวและอาจารย์วารสารศาสตร์ที่ CUNY เขาพูดถึงความขัดแย้งของวัฒนธรรมและวิธีทางวารสารศาสตร์ ที่ค่ายหนึ่งมองข่าวว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องสมบูรณ์เพอร์เฟ็กต์ กับอีกค่ายหนึ่งที่มองข่าวเป็นกระบวนการที่นักข่าวทำร่วมกับคนอื่น ๆ และในระหว่างนั้นนักข่าวก็ต้องยอมรับและบอกต่อสาธารณะด้วย ว่าตัวเองไม่รู้อะไรและอยากรู้อะไร แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาข่าวด้วยกันไป เหมือนซอฟต์แวร์ที่มีรุ่นเบต้าและก็อัปเดตกันไปเรื่อย ๆ

การค่อย ๆ พัฒนาข่าวร่วม ถ้าเทียบกับทวิตเตอร์ ก็คืออย่าไปนับว่า ทวีตหนึ่งทวีตนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ข่าวที่จบในตัวมันเอง แต่ให้มองทั้งไทม์ไลน์ที่กำลังวิ่งไป ว่ามันเป็นกระบวนการข่าว ที่ไม่มีวันจบสิ้น รายงานไป แก้ไป อัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ ไป — ผู้เขียนบล็อก Complex Interplay (ซึ่งเป็นนักข่าววิทยาศาสตร์) บอกว่ามันเหมือนกับว่า เราเน้นที่การเดินทาง ไม่ใช่ที่จุดหมาย

ความขัดแย้งของ “สื่อเก่า” กับ “สื่อใหม่” มันจึงไม่ใช่เพียงการแย่งชิงพื้นที่ในเชิงทรัพยากรคลื่นความถี่ แบนด์วิธ หรือช่องทางเสนอข่าวอื่น ๆ แต่ยังเป็นความขัดแย้งในระดับการค้นหาความรู้หรือญาณวิทยาอีกด้วย

“เก่า” และ “ใหม่” ที่ห้อยท้ายคำว่าสื่อ จึงไม่เพียงหมายถึงเทคโนโลยี แต่ยังหมายถึง “คุณค่าเก่า” กับ “คุณค่าใหม่” ที่ไม่ลงรอยกัน ว่าจะนับว่าอะไรเป็นความรู้ จะนับว่าอะไรเป็นพื้นที่สาธารณะ และจะนับว่าอะไรสำคัญควรค่าแก่การพูดถึงในพื้นที่สาธารณะดังกล่าว

“แท้จริงแล้ว วิกฤตสังคมเป็นผลมาจากการที่สิ่งเก่ากำลังตายไป และสิ่งใหม่ถูกขัดขวางมิให้ก่อเกิด ในระหว่างรัชสมัยเยี่ยงนี้ อาการวิปลาสนานาชนิดจะสำแดงตัวออกมา”

“The crisis consists precisely in the fact that the old is dying and the new cannot be born; in this interregnum a great variety of morbid symptoms appear.”

อันโตนิโอ กรัมชี่ (1971)

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ พูดถึงวรรคนี้ของกรัมชี่เมื่อเกือบสองสัปดาห์ที่แล้ว ในปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ฯ หัวข้อ ยุคเปลี่ยนผ่านวรรณกรรมไทย วรรณกรรมไทยยุคเปลี่ยนผ่าน


* ภาพประกอบโดย See-ming Lee สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ CC by-sa

1 สมชัย สุวรรณบรรณ: “ปฏิรูปสื่อไทย? สงสัยต้องปฏิวัติ” ตอน 1, ตอน 2, ตอนจบ – กรุงเทพธุรกิจ, ธ.ค. 2553 – ม.ค. 2554^

2 สำหรับเรื่องสื่อชนเผ่า นี่ใครสนใจ หมายถึง ชนเผ่าจริง ๆ เลยน่ะ ลองดูเล่มนี้นะครับ The indigenous public sphere: the reporting and reception of Aboriginal issues in the Australian media ว่าด้วยเรื่องของชนพื้นเมืองในออสเตรเลียครับ ผมไม่เคยอ่านหรอกนะ เห็นแค่รีวิว แต่เคยอ่านบางบทของหนังสืออีกเล่มของผู้ร่วมเขียน คือเล่มที่ชื่อ The Public Sphere: An Introduction โดย Alan McKee ผมว่าเล่มนี้สนุกดี พูดถึงพื้นที่สาธารณะในวัฒนธรรมสมัยนิยม ใน 5 ประเด็นใหญ่ คือ อะไรคือเรื่อง ‘ส่วนตัว’ หรือเรื่อง ‘ไร้สาระ’ ในพื้นที่สาธารณะ ?, คุณค่าของสื่อที่ถูกทำให้เป็นการค้ามันด้อยค่ากว่าจริงหรือ ?, นำเสนอแบบหวือหวาแล้วมันยังไง ?, การที่ต่างคนต่างคุยในพื้นที่สาธารณะของตัวเองมันเป็นเรื่องแย่จริงหรือ ?, คนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมืองจริงรึเปล่า ? … ทั้งหมดผมคิดว่าหลักใหญ่ใจความก็คือ “เราจะนับว่าอะไรเป็นพื้นที่สาธารณะ” ? (แล้วเรากันใครออกไปบ้าง ?) ^

3 นี่เป็นประเด็นอันหนึ่ง ที่ผมคิดว่าทำให้ อาจารย์มหาวิทยาลัยกว่า 400 คน คัดค้านมาตรฐานอุดมศึกษา “TQF” ของสกอ. — ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะไม่เอาการประเมินด้วยตัวชี้วัด แต่พวกเขาตั้งคำถามว่าตัวชี้วัดที่สกอ.เสนอมานั้น จะวัดสิ่งที่สกอ.ต้องการได้จริงหรือ และกรอบการวัดดังกล่าวมีความโน้มเอียงไปทางบางกลุ่มวิชา (แต่สกอ.ไม่ได้แจ้งถึงความโน้มเอียงนี้ ทำราวกับว่ามันเป็นกลาง และเป็นสากลใช้ได้กับทุกสาขาวิชา) — ติดตามเรื่องนี้ได้ที่ virtualdialogue.wordpress.com ^

อัปเดต 2011.05.20 17:07: เพิ่มบทความของสมชัยในกรุงเทพธุรกิจ ที่เอ่ยถึง objectivity, บทความ TIME, TQF, และหนังสือสื่อชนเผ่า


One response to “เมื่อโลกใหม่ดิ้นรนจะบังเกิด และโลกเก่ากำลังตาย ?”

Leave a ReplyCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Exit mobile version