อำนาจมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อมีระเบียบ
อำนาจจึงมักเรียกร้องระเบียบ
(ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะใช้ประสิทธิภาพที่ได้มานั้นกับเรื่องอะไร)
การจัดตั้งของคนอำนาจน้อยก็เป็นระเบียบแบบหนึ่ง และการจัดตั้งเพื่อนำไปสู่การทำให้เสียระเบียบในความสัมพันธ์กับอำนาจใหญ่ ก็เป็นแบบแผนแบบหนึ่งเพื่อต่อต้านอำนาจใหญ่ที่ตั้งอยู่ได้ด้วยระเบียบ
การทำให้เสียระเบียบ ด้วยการ “อยู่เฉยๆ” เป็นเครื่องมือพื้นฐานของคนที่มีอำนาจน้อย
ในฐานะผู้บริโภค ก็หยุดบริโภค (สินค้าที่เราว่าไม่โอ)
ในฐานะคนทำงาน ก็หยุดงาน
ในฐานะพลเมือง ก็หยุดทำตามกฎหมาย (ข้อที่เราว่าไม่โอ – คำเรียกสวยๆ คือ civil disobedience)
ในฐานะผู้เสียภาษี ก็หยุดเสียภาษี
ในฐานะเจ้าของข้อมูล ก็หยุดให้ข้อมูล
(ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ “ใส่เกียร์ว่าง” lol)
การหยุดต่างๆ มันไม่ใช่เพียงการหยุดกิจกรรมเท่านั้น ความสำคัญของการหยุดต่างๆ ข้างต้นนั้นไม่ใช่การหยุดกิจกรรม แต่คือการระงับความสัมพันธ์ชั่วคราว
คือเราเป็นผู้บริโภคก็เพราะเราบริโภค เราเป็นพลเมือง ก็เพราะเรากับรัฐมีสัญญาประชาคมระหว่างกัน การหยุดนี้คือ หยุดความสัมพันธ์ และพอไม่มีความระหว่างกัน สถานะเราก็จะถูกรีเซต กลับมาตั้งคำถามว่า เออ ตกลงกูคือใคร และกูเป็นอะไรกับมึง เราเป็นอะไรกัน แล้วที่ทำๆ อยู่ทุกวันนี่ มันสร้างคุณค่าอะไร หรือมึงเห็นกูเป็นของตาย
เอาจริงๆ ก็น่าหัวเราะอยู่ คือมีปัญญาทำเท่านี้แหละ ในฐานะปัจเจกหนึ่งหน่วย อาวุธห่าอะไรอื่นก็ไม่เหลือแล้ว (การใช้อำนาจผ่านผู้แทนในระบบ ถ้ามี ก็สิ้นหวังแล้ว) ซึ่งระบบจะไม่รู้สึกอะไรหรอก จนกว่าจะมีคน ” อยู่เฉยๆ” หรือ “ไม่ทำตามที่กำหนด” เยอะพอ
แต่ของหลายอย่างมากเลย ที่หยุดแล้วก็จะคนจำนวนมากก็จะมีชีวิตที่ผิดปกติไป หยุดเดินรถ แล้วคนอื่นจะเดินทางยังไง แบนสินค้า เอ้า แล้วคนจะตกงานไหม หยุดเสียภาษี จะไปกระทบกับสวัสดิการสังคมและสาธารณูปโภคไหม แบบนี้จะทำยังไง เพราะคนที่ได้รับผลกระทบแต่ละคนมีความสามารถในการรับมือไม่เท่ากัน (ถ้าตกงานแล้วมีประกันการว่างงานรองรับ ก็จะกระทบน้อยกว่านี้)
ถ้าเราปฏิเสธการ “อยู่ฉยๆ” หรือการทำให้เสียระเบียบทางสังคมโดยชั่วคราว ดังที่ว่ามานี้ ไปทั้งหมดเลย ด้วยเหตุผลจากย่อหน้าที่แล้ว ก็จะกลายเป็นว่า คนที่มีหลักประกันทางสังคมน้อยที่สุด-ได้รับผลกระทบง่ายสุด กำลังถูกจับเป็นตัวประกันเพื่อปกป้องคนที่มีอำนาจมากกว่า-ได้รับผลกระทบน้อยกว่า แล้วคนอำนาจน้อยก็จะเหลือเครื่องมือในการต่อสู้น้อยลงไหม?