Internet of Opinions


อ.ย่า อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เคยพูด*ว่า พื้นที่สื่อสารทุกชนิดไม่ใช่พื้นที่เฉพาะสำหรับข้อเท็จจริง (ทั้งที่จริงและไม่จริง) แต่เป็นพื้นที่ของความคิดเห็นด้วย (ไม่สามารถระบุได้ว่าจริงหรือไม่จริง มีแค่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย)

ดังนั้นถ้าจะให้พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่สำหรับข้อเท็จจริงเท่านั้น เรากำลังทิ้งอีกครึ่งนึงไป และถ้าจะให้มีเฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นจริงเท่านั้น เราจะเหลือพื้นที่แค่ 1/4

คำถามก็คือ แล้วทำไมต้องไปให้พื้นที่ 1/4 สำหรับข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จด้วย ให้ใครสักคนมากรองมันทิ้งไปเลยไม่ได้หรือไง คนที่เหลือจะได้สบาย ไม่ต้องกรองเอง

ก็เพราะของที่เป็นเท็จวันนี้ บางอย่างมันอาจจะจริงพรุ่งนี้ก็ได้ เมื่อมีวิธีการพิจารณาโลกแบบใหม่ หรือการที่จะเห็นว่าอะไรจริง มันจำเป็นต้องมีคู่เทียบที่เป็นเท็จมาทำให้เรามองชัดขึ้น หรือในการเรียนรู้เพื่อจะแยกแยะจริง-เท็จ (โดยไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ) มันจำเป็นมีตัวอย่างให้เราเห็นว่า อ๋อ เท็จมันเป็นแบบนี้ เพื่อว่าในวันข้างหน้า เราจะรู้ได้เองว่า ของทำนองนี้มันน่าจะเท็จ

สำหรับพื้นที่ความคิดเห็น ระบบการกรอง (ด้วยอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มหรือด้วยการเลือกติดตามของคนเอง) ก็อาจนำไปสู้การที่พื้นที่ความคิดเห็น หดเหลือครึ่งเดียวได้ (เหลือเฉพาะความคิดเห็นที่เราชอบหรือที่เราเห็นด้วย)

ปัญหาต่อเสรีภาพการสื่อสารคือ มีคนที่อยากจะได้เฉพาะข้อเท็จจริงที่เป็นจริง (1/4) และความคิดเห็นที่เราเห็นด้วย (1/4) ซึ่งโดยตัวมันเองไม่ได้ผิดอะไร เพราะมันก็เป็นสภาวะที่ “ปลอดภัย” ที่อยู่แล้ว “สบายใจ” – แต่ปัญหาคือ กระบวนการที่จะไปทำให้เกิดสภาวะนั้น มันไปทำลายความปลอดภัยระยะยาว ของทุกๆ คน

เหมือนการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าแมลงแรงๆ ฆ่าเชื้อทุกอย่าง เราจะได้สภาวะสะอาดปลอดภัยขึ้นมา แต่สภาวะนั้นจะอยู่กับเราเพียงชั่วคราว หลังเชื้อต่างๆ เริ่มดื้อยา และยาก็ไปทำลายระบบนิเวศที่จะมาจัดการเชื้อหรือศัตรูทางธรรมชาติกันเอง — และตัวเราเองก็ไม่ได้พัฒนาภูมิต้านทานขึ้นมาเองเสียที — ความพยายามจะมีพื้นที่ “ปลอดภัย” ในระยะสั้นและชั่วคราว ทำให้เราเสียความปลอดภัยในระยะยาวและยั่งยืนไป

เป็นความปลอดภัยแบบหลอกตัวเอง เป็นความปลอดภัยแบบเห็นแก่เฉพาะคนรุ่นเรา ไม่เผื่อความปลอดภัยเอาไว้ให้คนรุ่นต่อๆ ไป

เราไม่ได้ต้องการเฉพาะความจริง (truth) หรือข้อเท็จจริงที่เป็นจริง (true fact) เราต้องการข้อเท็จจริงอื่นๆ รวมถึงความคิดเห็นด้วย ทั้งที่เราชอบและไม่ชอบ ความคิดเห็นนั้นไม่เพียงมีคุณค่าในตัวเอง แต่ยังเป็นเครื่องมือพาเราไปหาความจริงและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในอนาคต (หรือกลับไปทบทวนข้อเท็จจริงที่เราเคยเชื่อว่าจริงในอดีต) ได้อีก


*จำได้ว่าในที่ประชุมคปส.ที่ตึกมอส.เมื่อนานมาแล้ว หลังรัฐประหาร 2549 สักปีสองปี ตอนนั้นตื่นเต้นมาก – เหมือนตอนนั้นมันจะเป็นช่วงที่คปส.ขยายมาทำประเด็นสื่อใหม่ ซึ่งก็หลังจากวิทยุชุมชน ก็มีอินเทอร์เน็ต และภาพยนตร์ สนช.ชุดนั้นเสนอกฎหมายจัดระเบียบสื่อใหม่หลายฉบับ รวมทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 และพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 – ผมเริ่มเข้ามาทำงานประเด็นพวกนี้บ้างก็น่าจะจังหวะนั้น

โพสต์ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก

Exit mobile version