ในโซเวียตรัสเซีย: การเลือกตั้งของชนเผ่า กับ ปัญหาของประวัติศาสตร์

Stolen Generation Commemorative Flower (Native Hibiscus)

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ กับ ปัญหาสื่อชนเผ่า (partisan press) โดย สมชัย สุวรรณบรรณ

ผู้เขียนเป็นอดีตผู้สื่อข่าว BBC ปัจจุบันเป็นกรรมการ ThaiPBS บทความเรียกสื่อที่แบ่งขั้ว-เลือกข้าง หรือ partisan press ว่า “สื่อชนเผ่า” (ไม่รู้ว่าต้องการให้มี connotation อะไรหรือไม่) และวิพากษ์ “สื่อชนเผ่า” (ซึ่งใช้สื่อใหม่อย่างเคเบิลทีวี ดาวเทียม อินเทอร์เน็ต และวิทยุชุมชน) ว่าไม่ได้ “มาตรฐาน” ของสื่อ และทำลายประชาธิปไตย

อ่านบทความนี้เมื่อคืนก่อนใน @thaireform แล้วก็คันไม้คันมือ แต่คอมเมนต์ในนั้นไม่ได้ เขาไม่เปิดพื้นที่ให้แสดงความเห็น เมื่อคืนประชาไทเอามาลง เลยขอหน่อย คอนเมนต์ไปในท้ายข่าว ดังนี้:

—-

โดยหลักการ พูดแบบรวม ๆ ก็โอเคนะครับ ไม่เอา hate speech เห็นด้วย (ส่วนจะนับว่าอะไรเป็น hate speech เนื่องจากในบทความไม่ได้ระบุเอาไว้ ก็ไม่พูดถึงละกัน แต่โน๊ตไว้ว่า ความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ก็หลากหลาย แต่ละคนมีระดับการนับตรงนี้แตกต่างกัน “มันมีหลายเฉด”)

แต่ก็อยากให้ลองตั้งคำถามด้วยว่า โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ที่บังคับใช้ทุกช่องต้องออกอากาศ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉิน, ข่าวบางช่วงเวลาที่ทุกช่องออกอากาศเหมือนกันหมด, และการสยบยอมต่อ “คำแนะนำในการเสนอข่าว” (ไม่ว่าจะเป็นเลือกประเด็น การใช้ภาษาหรือภาพ ฯลฯ) ที่สื่อ “non-partisan” น้อมรับมาปฏิบัติ … แบบนี้มันนำไปสู่สภาวะ non-partisan ของสื่อนั้น ๆ ได้จริงหรือ ? … หรือก็เป็นการ partisan ในป้ายชื่อว่า “non-partisan” เท่านั้นเอง ? พูดอีกอย่างก็คือ การ partisan เข้าข้างกระแสหลัก นี่ถูกนับว่าเป็น “non-partisan” ใช่ไหม ?

—-

ประเด็นวิทยุชุมชน โดยหลักการ ผมเห็นด้วยว่า ควรจะใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
แต่คุณสมชัยอาจจะลืมพูดว่า “สาธารณะ” นั้นก็มีบริบท และต้องการสถานที่/พื้นที่ในการวางตัวมันลงไป สาธารณะมันไม่ได้อยู่ลอย ๆ

เวลาเราพูดถึง public spheres ต้องอย่าลืมใส่ s ให้มันเป็นพหูพจน์

ประโยชน์สาธารณะที่พื้นที่สาธารณะของวิทยุชุมชนรัศมีส่ง 10 กิโลเมตร ในตำบลไหนสักแห่งทางภาคใต้ จะพูดถึง จำเป็นต้องเป็นประโยชน์สาธารณะเดียวกันกับประโยชน์สาธารณะ ที่อีกวิทยุชุมชนในภาคกลาง จะพูดถึงไหม ? หรือต้องเป็นอันเดียวกับประโยชน์สาธารณะเดียวกับของทั้งประเทศไหม ? ผมคิดว่าไม่จำเป็นนะ

แต่ละชุมชนก็มีประโยชน์ที่เขาเห็นว่าเป็นเรื่อง “สาธารณะกว่า” เรื่องอื่น ๆ แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ เพราะชุมชนเขาก็ต้องสัมพันธ์อยู่ร่วมกับชุมชนอื่น ประโยชน์สาธารณะที่ชุมชนข้างเคียงให้ความสำคัญ มันก็ไหลมาสู่ชุมชนเขาด้วย มากน้อยก็ว่าไป คือสมมติประโยชน์สาธารณะมันมีได้ 10 แบบ 10 เรื่อง แต่ละชุมชนอาจจะโฟกัสไม่เหมือนกัน บางที่โฟกัสเรื่องที่ 1, 3, 7, 8 อีกที่โฟกัสเรื่องที่ 2, 4, 7 … เราจะนับว่ามันเป็น partisan หรือ ? ก็เขาโฟกัสเรื่องที่มันเร่งด่วนจำเป็นสำหรับชุมชนเขา เรื่องที่มัน “สาธารณะกว่า” สำหรับชุมชนเขา … ทั้งชุมชนทางสถานที่กายภาพและชุมชนทางพื้นที่ความคิด (ซึ่งชัดเจนในกรณีสื่อออนไลน์) … ถ้าเราไม่รับไอเดียนี้ ก็ไม่รู้จะมีวิทยุชุมชนกันไปทำไมนะครับ รวมไปถึงการกระจายอำนาจการปกครองอะไรต่าง ๆ ด้วย

(โน๊ตไว้ด้วยว่า ทรัพยากรคลื่นในช่วงความถี่ที่วิทยุชุมชนใช้ ไม่ควรถูกเหมาไปว่าเป็น “สมบัติชาติ” ที่ต้องใช้เพื่อ “คนทั้งชาติ” เท่านั้น เราควรจะถือว่ามันเป็น “ทรัพยากรท้องถิ่น” เพื่อให้คนท้องถิ่นใช้ด้วย — ไม่งั้นก็จะเข้าอีหรอบ สร้างเขื่อนเพื่อประโยชน์คนทั้งชาติ แต่คนท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์ แถมถ้าโวยวาย ก็ถูกหาว่าไม่เสียสละ ไม่รักชาติเสียอีก)

แน่นอนว่ามันอาจมีเว็บไซต์ มีสถานี ที่ส่งเสริมความเกลียดชัง เป็น hate speech แต่ผมคิดว่าเราต้องระวังไม่เอาเรื่องนั้นมาเหมารวมทำลายความชอบธรรมของสื่อกระแสรองหรือสื่อทางเลือก ที่ต้องการจะสื่อสารเรื่องที่สื่อกระแสหลักไม่ได้สื่อ — ไม่ได้บอกว่าใครดีกว่าใคร เพราะมันก็เป็นเพียงการจัดลำดับความสำคัญ prioritize ประเด็นที่ไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง — ซึ่งสื่อที่ทำงานในระดับชาติ ทำกับมวลชนในสเกลระดับประเทศซึ่งไม่ได้อยู่ในสถานที่ทางกายภาพหรือพื้นที่ทางความคิดที่เผชิญกับความขัดแย้งโดยตรง ย่อม prioritize ว่าประเด็นไหนสำคัญมากน้อย ต่างไปจากคนที่อยู่ในสถานที่/พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ นั่นจึงเป็นเหตุว่าทำไมเว็บและวิทยุชุมชนมันถึงตอบโจทย์ตรงนี้ได้

—-

ที่คุณสมชัยพูดว่า:

“สิ่งที่จะฟ้องให้เห็นว่าเป็น partisan press คือจะมีการใช้พลังของสื่อในการปั้นผู้นำของกลุ่มตนให้มีลักษณะ cult status”

จริง ๆ ประโยคนี้น่าสนใจมาก ถ้าเราพิจารณาว่าในรอบสี่ห้าปีที่ผ่านมา “ผู้นำของกลุ่มตน” คนไหนที่ “ใช้พลังของสื่อในการปั้น” อย่างเอิกเกริกมากที่สุด ทั้งโดยรัฐและเอกชน ทั้งที่ใช้เงินภาษีของประชาชนและที่เป็นเงินส่วนตัวขององค์กร (ที่อาจจะเอามาหักลดหย่อนภาษีตอนปลายปีได้) ทั้งในสื่อกระจายเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อภายนอกบ้าน

ถ้าจะนับตาม “สิ่งที่จะฟ้อง” นี้จริง ๆ บ้านเมืองนี้ partisan กันหมดล่ะครับ … ผมว่ามันจะยุ่ง

รูปโดย butupa สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ CC by-nc-nd

*ในโซเวียตรัสเซีย… นี่เป็นมุขเล่นคำประเภทนึง โดยจะมีโทนแบบออร์เวลล์อยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น “ในอเมริกา, คุณดูทีวีสาธารณะ. ในโซเวียตรัสเซีย, ทีวีสาธารณะดูคุณ!”

อัปเดต 2011.05.20: สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) มองต่างบทความของสมชัย: “สิทธิในการสื่อสารของประชาชนในสื่อใหม่ เป็นคนละเรื่องกับหลักเกณฑ์ของนักวิชาชีพในสื่อกระแสหลัก” และ ข้อสังเกตจาก พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ เรื่องการนำเสนอข่าวครบรอบหนึ่งปีเหตุการณ์สลายการชุมนุม 19 พ.ค. 2553 โดย ThaiPBS และ BBC: “TPBS นั้นคือสื่อแบ่งขั้ว”

โพสต์ต่อเนื่อง: เลือกข้าง-ไม่เลือกข้าง อคติ-ไม่มีอคติ … ไม่มีอคติได้จริง ๆ หรือไง ? เมื่อโลกใหม่ดิ้นรนจะบังเกิด และโลกเก่ากำลังตาย ?


One response to “ในโซเวียตรัสเซีย: การเลือกตั้งของชนเผ่า กับ ปัญหาของประวัติศาสตร์”

Leave a ReplyCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Exit mobile version