แปลจาก The Ugly Models: Why are liberals so impressed by China and Singapore’s school systems? เขียนโดย Martha C. Nussbau
ผู้นำอเมริกันทั้งหลาย ซึ่งประทับใจในความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และจีน มักกล่าวอย่างอิจฉาเสมอ ๆ เมื่อพูดถึงระบบการศึกษาของประเทศเหล่านั้น. ประธานาธิบดีโอบามาอ้างถึงสิงคโปร์ในสุนทรพจน์เมื่อมีนาคม 2009 โดยกล่าวว่านักการศึกษาในสิงคโปร์นั้น ให้เวลาน้อยลงในการสอนสิ่งที่ไม่เป็นสาระ และให้เวลามากขึ้นในการสอนสิ่งที่เป็นสาระ พวกเขาเตรียมนักเรียนของพวกเขาไม่เพียงสำหรับโรงเรียนมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย แต่ยังสำหรับอาชีพการงาน พวกเราไม่ได้ทำเช่นนั้น
. นิโคลัส คริสทอฟ (Nicholas Kristof) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ยกย่องจีนอยู่เสมอ เขาเขียน (ในช่วงก่อนโอลิมปิกที่ปักกิ่ง) ว่า “วันนี้ มันเป็นกีฬา ที่พุ่งทะยานขึ้นจนทำเราประหลาดใจ แต่จีนจะทำสิ่งมหึมาเดียวกันนี้ในศิลปะ ในธุรกิจ ในวิทยาศาสตร์ ในการศึกษา” ซึ่งโดยนัยคือการสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ในระบบการศึกษาของจีน แม้กระทั่งในบทความที่เขาวิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างรุนแรง ถึงสิ่งที่จีนได้กระทำอย่างโหดร้ายกับผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมือง. แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่า โอมาบา คริสทอฟ และชาวอเมริกันอื่น ๆ ผู้สนับบสนุนระบบการศึกษาของสิงคโปร์และจีน นั้นไม่ได้ใคร่ครวญอย่างเพียงพอต่อความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายการศึกษาเหล่านั้น กับการแลกเปลี่ยนถกเถียงแบบประชาธิปไตย และสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเองแบบประชาธิปไตย. อันที่จริงแล้ว พวกเขากำลังสรรเสริญสิ่งที่ไม่ควรค่าแก่การยกย่องเลย.
อะไรคือสิ่งที่นักการศึกษาในสิงคโปร์และจีนทำ? โดยการประเมินของพวกเขาเองแล้ว พวกเขาทำได้ดีมากในการเรียนแบบท่องจำและการสอนเพื่อสอบ. ต่อให้เป้าหมายประการเดียวของเราคือการผลิตนักศึกษาที่จะทำงานอย่างไม่ลืมหูลืมตาเพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ประกาศอย่างชัดเจนสำหรับการศึกษาในสิงคโปร์และจีน เราก็ยังสมควรปฏิเสธยุทธศาสตร์ของพวกเขา เหมือนกับที่พวกเขาเองได้ปฏิเสธมันแล้ว. ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศทั้งสองได้ทำการปฏิรูปการศึกษาขนานใหญ่ มีข้อสรุปว่าเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องสนับสนุนหล่อเลี้ยงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหาเชิงรุก และความคิดจินตนาการซึ่งจำเป็นสำหรับนวัตกรรม. พูดอีกอย่างก็คือ แม้ทั้งสองประเทศดังกล่าวจะไม่มีประเทศไหนเลยที่รับเอาแนวคิดเป้าหมายการศึกษาอย่างกว้าง แต่ทั้งสองก็ได้ตระหนักว่า กระทั่งเป้าหมายอย่างแคบที่มุ่งเฉพาะความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ ระบบที่เน้นการเรียนแบบท่องจำเองก็ยังไม่ดีพอ. เมื่อปี 2001 กระทรวงศึกษาธิการจีนได้เสนอ หลักสูตรใหม่
ที่มีเป้าหมายเพื่อ เปลี่ยนการเน้นย้ำ … การท่องจำและการฝึกฝนอย่างเครื่องจักรอย่างเกินพอดี. สนับสนุนการมีส่วนร่วมเชิงรุกของนักเรียน, ความปราถนาของนักเรียนที่จะค้นหาความจริง, และความกระตือรือร้น … ที่จะวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ.
เช่นเดียวกันสิงคโปร์ ที่ได้ปฏิรูปนโยบายการศึกษาในปี 2003 และ 2004 ซึ่งถอยห่างจากการเรียนแบบท่องจำ ไปสู่วิธีการแบบ เด็กเป็นศูนย์กลาง
ซึ่งเด็กถูกมองเป็น ผู้ควบคุมสถานการณ์
. ด้วยการปฏิเสธ แบบฝึกหัดและการบ้านซ้ำ ๆ
หลักสูตรที่ถูกปฏิรูปใหม่มองครูผู้สอนในฐานะ ผู้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน แทนที่จะเป็นผู้มอบคำตอบ
. หลักสูตรดังกล่าวเน้นทั้งความสามารถในการคิดวิเคราะห์และ การแสดงออกเชิงสร้างสรรค์และสุนทรียะ, ความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม, และความตระหนักถึงตัวเองและสังคม
. ภาษาที่ใช้ในการปฏิรูปทั้งสองนี้ ชวนให้นึกถึงความคิดของนักการศึกษาหัวก้าวหน้าผู้ยิ่งใหญ่ จอห์น ดิวอี (John Dewey) และ รพินทรนาถ ฐากูร (Rabindranath Tagore) ซึ่งทั้งคู่เคยไปประเทศจีน และเคยมีอิทธิพลไม่น้อยทั่วทั้งเอเชียตะวันออก. สิงคโปร์และจีนพยายามที่จะเคลื่อนไปสู่การศึกษาปลายเปิดที่ก้าวหน้า ซึ่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน-ในแบบเดียวกับที่เรากำลังจะตีจาก ด้วยการเน้นการสอนเพื่อสอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบาย No Child Left Behind.
หลายผู้สังเกตการณ์ มองสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนและสิงคโปร์ขณะนี้ และสรุปว่าการปฏิรูปดังกล่าวไม่ได้ถูกทำให้บรรลุผลสำเร็จจริง ๆ. เงินเดือนครูยังคงอิงอยู่กับคะแนนทดสอบ และด้วยเหตุนี้ โครงสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ จึงไม่มี. โดยทั่วไปแล้ว มันเป็นการง่ายกว่ามาก ที่จะวิ่งเข้าหาการเรียนแบบท่องจำ ไม่ใช่ถอยห่างจากมัน เนื่องจากการสอนในแบบที่ดิวอีและฐากูรแนะนำนั้น ต้องการทรัพยากรที่เพียบพร้อมและความตระหนักเข้าใจ และแน่นอนว่าการทำตามสูตรสำเร็จนั้นย่อมง่ายกว่า.
มากไปกว่านั้น การปฏิรูปดังกล่าวยังถูกจำกัดด้วยความกลัวของชาติเผด็จการเหล่านี้ ความกลัวในเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างแท้จริง. ในสิงคโปร์ ไม่มีใครพยายามใช้เทคนิคใหม่ดังกล่าวเวลาสอนเกี่ยวกับการเมืองและประเด็นปัญหาร่วมสมัย. การศึกษาพลเมือง
นั้นโดยปกติจะมีรูปแบบของการวิเคราะห์ปัญหา, เสนอวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ต่าง ๆ, และจากนั้นก็จะแสดงให้เห็นว่าทำไมวิธีที่รัฐบาลเลือกนั้นจึงเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วสำหรับสิงคโปร์. ในมหาวิทยาลัย ผู้สอนบางคนพยายามใช้วิธีเปิดกว้างแบบใหม่ ๆ แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็มีหนทางที่จะฟ้องร้องอาจารย์เหล่านั้นด้วยข้อหาหมิ่นประมาท ถ้าพวกเขาวิจารณ์รัฐบาลในชั้นเรียน, ยิ่งไปกว่านั้น คดีดัง ๆ จำนวนหนึ่ง จะถูกหลีกเลี่ยงไม่อภิปรายถึง. อาจารย์นิเทศศาสตร์รายหนึ่ง (ซึ่งได้ออกจากสิงคโปร์ไปแล้วนับแต่ตอนนั้น) รายงานว่า ในขณะที่เธอพยายามจะนำการอภิปรายเกี่ยวกับคดีหมิ่นประมาทต่าง ๆ ในชั้นเรียนของเธอ ฉันรู้สึกได้ถึงความกลัวในห้อง … คุณเอามือไปจับมันได้เลยล่ะ
. แม้ชาวต่างชาติก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษ วิทยาลัยการภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (NYU Tisch School of the Arts Asia) ได้รับการสนับสนุนให้เปิดสาขาในสิงคโปร์ แต่ได้รับการแจ้งว่า ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในหลักสูตรนี้ จะไม่สามารถฉายนอกวิทยาลัยได้. ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงประเทศจีน ที่การคิดอย่างสร้างสรรค์หรือวิเคราะห์วิพากษ์อย่างเจาะลึกนั้น ไม่ได้รับการส่งเสริมเมื่อพูดถึงระบบการเมือง.
มันถึงเวลาแล้ว ที่จะถอดแว่นฉาบสีกุหลาบออก. สิงคโปร์และจีนคือตัวแบบที่เลวร้ายของการศึกษา ไม่ว่าจะสำหรับชาติไหนที่ปราถนาจะรักษาประชาธิปไตยแบบพหุลักษณ์หลากหลายเอาไว้. พวกมันไม่ประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจอย่างที่ตั้งใจไว้ และพวกมันกำราบจินตนาการและการวิเคราะห์ลงอย่างราบคาบ ในเวลาที่ต้องคิดถึงอนาคตของชาติและทางเลือกอันยากลำบากต่าง ๆ ในหนทางข้างหน้า. หากเราต้องการมองเอเชียเพื่อหาตัวแบบ มันมีตัวแบบที่ดีกว่ามากมายให้ค้นหา เช่น ประเพณีการศึกษาเสรีนิยม-ศิลปศาสตร์แนวมนุษยนิยมของเกาหลี และวิสัยทัศน์ของฐากูรและนักศึกษาชาวอินเดียที่เห็นในแนวทางเดียวกับเขา. (ฉันจะเขียนถึงวิธีการอันกระจ่างสว่างไสวของพวกเขา ในคอลัมน์ต่อจากนี้).
Martha C. Nussbaum เป็นศาสตราจารย์กฎหมายและปรัชญา ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก. หนังสือล่าสุดของเธอคือ From Disgust to Humanity: Sexual Orientation and the Constitution.
ภาพประกอบโดย torres21 สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ CC by-sa
แปลจากบทความ The Ugly Models: Why are liberals so impressed by China and Singapore’s school systems? เขียนโดย Martha C. Nussbau. บทความนี้แนะนำโดย อ.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ในโพสต์เพซบุ๊กชวนคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไทย – ใครสนใจจะคุยเรื่องนี้ต่อ คุยได้ที่กลุ่ม Philosophy@Chula.
ผมเริ่มแปลความนี้ เพื่อระลึกถึง สมเกียรติ ตั้งนโม และเพื่อขอบคุณการศึกษาทางเลือกที่เขาพยายามทำกับเพื่อน ๆ ร่วมอุดมการณ์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
.
ผู้เขียนบทความนี้ ทิ้งท้ายไว้ว่าจะเขียนต่อเกี่ยวกับเกาหลีและอินเดีย ผมกะว่าจะแปลอีกชิ้นที่ต่อกันดังกล่าวด้วย [ออกมาแล้ว – 13 ส.ค. 2553] เพื่อรวมเป็นชิ้นแปลเดียวเดียวกัน และเผยแพร่ต่อไป. ที่เอาส่วนนี้มาลงตรงนี้ก่อน เผื่อใครจะช่วยปรับแก้ที่ผิด หรือปรับสำนวนให้มันอ่านง่ายหน่อย หรือเขียนเชิงอรรถเพิ่มเติมให้. ในส่วนที่อาจจะเป็นบริบทเฉพาะสหรัฐ หรือต้องการความรู้พื้นฐานนิดหน่อยเพื่อความเข้้าใจ ผมดูผ่าน ๆ แล้วก็โอเค น่าจะพออ่านรู้เรื่อง แต่ถ้าใครช่วยอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดของดิวอีและฐากูร รวมถึงนโยบาย No Child Left Behind สั้นๆ ให้หน่อยได้ ก็จะช่วยได้มากเลยครับ. (ในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีบทความเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาของฐากูร – “วิศวภารตี-ศานตินิเกตัน : อุดมศึกษาที่ไร้กำแพง” โดย ประมวล เพ็งจันทร์)
สิ่งที่ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ เกี่ยวกับระบบการศึกษาของเกาหลี ทำผมสนใจมาก ๆ เนื่องจากเพิ่งจะได้ดูหนัง May 18 (ในลิงก์เป็นรายงานจากการฉายที่จุฬา ส่วนผมดูอีกรอบหนึ่งก่อนหน้านั้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่).
รวมถึงมันพูดถึงการศึกษาเสรี/ศิลปศาสตร์ liberal education/liberal arts ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมสนใจ และเคยตามอ่านเรื่องนี้เป็นระยะ ๆ จากบล็อกคนชายขอบ และ @Fringer.
technorati tags: liberal education, education reform, USA
5 responses to “ตัวแบบอันน่าเกลียด: ทำไมเหล่าเสรีนิยม จึงประทับใจเหลือเกินกับระบบการศึกษาของจีนและสิงคโปร์?”
แนวคิดด้านการศึกษาของ ฐากูร มีคนเขียนอยู่พอสมควรนะ ลองหาดูจาีกคำว่า "ศานตินิเกตัน" มีคนนำมาเขียนเป็นหนังสือแล้วล่ะ น่าจะชื่อ อินเดียใต้ร่มไม้ หรือหาจากคำว่า วิศวะภารตี (Visva-Bharati) Note: ๑) การศึกษาที่ Nussbaum พูดถึง น่าจะจำกัดอยู่ที่ระดับก่อนเข้ามหาลัยรึเปล่า หรือว่าทั้งหมด รวมระดับอุดมศึกษาด้วย ??? ๒) น่าแปลกเหมือนกันนะที่การศึกษาทางเลือกในไทย (เท่าที่ตัวเองรู้) อิงตัวแบบจากตะวันตกซะมาก เช่น แนวซัมเมอร์ฮิลล์ (ร.ร.หมู่บ้านเด็ก) แนววอลดอร์ฟ ของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ (ร.ร.ปัญโญทัย รร.แสนสนุกไตรทักษะ ฯลฯ) แนวมอนเตสซอรี่ (ร.ร.ผ่องสุวรรณ ตรงลำลูกกา) แต่ไมเคยได้ยิน so-called "นักการศึกษา" พูดถึงแนวของฐากูร เลย
ขอบคุณมากๆ ครับ:รพินทรนาถ ฐากูร
วิศวภารตี-ศานตินิเกตัน : อุดมศึกษาที่ไร้กำแพงโดย ประมวล เพ็งจันทร์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนhttp://www.midnightuniv.org/midnight2545/document…
ยินดีค่ะ อืม… reading camp น่าจะถกกันเรื่องนี้เนอะ
ตอนที่สองมาแล้วWhat We Could Learn From India and Korea: Both nations understand how to educate children the right way. http://www.tnr.com/article/politics/76997/what-we-could-learn-india-and-korea-education-povertyMartha C. NussbaumAugust 13, 2010