Open Document Standard, e-Government, and Universal Information Access


ต่อเรื่อง open document standard มาตรฐานเอกสารแบบเปิด ที่ใน duocore ตอนที่ 66 ลืมพูด/เวลาไม่พอเลยข้ามไป

open standard นี่ ทั้งตัว format และ protocol ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องเลยนะ


มาตรฐานเอกสารแบบเปิด กับระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)

เช่นเรื่อง backoffice ระบบบริหารจัดการข้อมูลของระบบราชการ หน่วยงานรัฐ ที่ต้องประมวลผลเอกสารมาก ๆ ทั้งภายในหน่วยงานเอง ระหว่างหน่วยงานรัฐ และกับภาคเอกชน ประชาชน

ถ้าไม่ใช่ฟอร์แมตเปิด การสร้างซอฟต์แวร์ระบบที่จะอ่าน/เขียนเอกสารเหล่านั้นได้อย่างอัตโนมัติ ก็ลำบาก (ต้อง reverse engineering แกะสเปกกันวุ่นวาย) แถมยังไม่สามารถมั่นใจเต็ม 100% ได้ว่าจะอ่าน/เขียนได้ตรงเป๊ะ ซึ่งก็อาจทำให้ข้อมูลบางอย่างตกหล่นสูญหายได้ ยิ่งคิดว่าในกระบวนการทำงานจะต้องมีการส่งเอกสารกันหลายทอด อ่าน/เขียนกันหลายรอบ ก็เป็นไปได้ที่การสูญหายดังกล่าวจะสะสมเยอะขึ้นได้ด้วย


มาตรฐานเอกสารแบบเปิด กับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถ้วนหน้า (universal information access)

นอกจากนี้ กรณีที่สเปกรูปแบบเอกสารที่มันปิด ไม่ได้เป็นมาตรฐานเปิด
ก็ทำให้มีโอกาสอยู่มาก ที่จำนวนโปรแกรมที่จะมาอ่าน/เขียนเอกสารเหล่านั้นได้ มันจะมีอยู่อย่างจำกัด
และโดยมากก็มักจะเป็นโปรแกรมของผู้กำหนดสเปกเท่านั้น ที่จะอ่าน/เขียนได้สมบูรณ์
ก็เท่ากับว่า มี “การผูกขาดโปรแกรมในการอ่าน/เขียน” อยู่กลาย ๆ

เช่น กรณีที่หน่วยงานราชการเผยแพร่เอกสารในรูปแบบ .doc (หรือ .xls, .ppt) อย่างเดียว (พูดถึงกรณีเมื่อก่อน ที่ยังไม่ได้เปิดสเปก) เท่ากับบังคับให้ประชาชนต้องมี Windows หรือ Mac OS X เป็นอย่างน้อย เพื่อที่จะใช้โปรแกรม Word Viewer, Excel Viewer เพื่อจะดูเอกสารดังกล่าวได้ (แบบเต็ม 100% ไม่ต้องกลัวว่าจะมีข้อมูลอะไรสำคัญหายหรือเพี้ยนไป) ซึ่งซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์ที่ต้องซื้อ — หรือกรณีถ้าต้องกรอกแบบฟอร์มส่งหน่วยงานรัฐ เช่น ยื่นภาษี แบบประกันสังคม ก็จำเป็นต้องซื้อ Office อีกชุดหนึ่งด้วย (เพื่อให้แก้ไขได้) — ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะขัดกับหลักเรื่อง “การไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ” (?)

ยกตัวอย่าง ประเทศนอร์เวย์ ที่ กระทรวงปฏิรูปการบริหารราชการ ของเขา ประกาศให้หน่วยงานรัฐต้องเผยแพร่ เอกสารในรูปแบบ open standard คือ HTML, PDF กับ OpenDocument (จะมีแบบ non-open ด้วยก็ได้ แต่ต้องมีแบบ open เสมอ)
ดูข่าว: Norway mandates government use of ODF

สหภาพยุโรปและหลายมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะประกาศระเบียบทำนองนี้เช่นกัน


มาตรฐานเอกสารแบบเปิด กับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถ้วนหน้า กรณีของประเทศไทย

สำหรับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ประเทศไทยมี “พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.๒๕๔๐” ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน — โดยยึดหลักนโยบาย “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น”

กรณีเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบเอกสารอิเลกทรอนิกส์ที่ใช้ ฟอร์แมตที่ไม่ใช่ มาตรฐานเปิด ก็จะทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ ซึ่งอาจผิดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 30 (ดูรธน.และพรบ.ดังกล่าวข้างล่าง)

หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ของไทยคือ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

มาตรา ๓๐

บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติ แห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้

มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริม ให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพ ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม


พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐

หมวด ๑ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

มาตรา ๗

หน่วยงานของรัฐต้องส่งข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
(๑) โครงสร้างและการจัดองค์กรในการดำเนินงาน
(๒) สรุปอำนาจหน้าที่ที่สำคัญและวิธีการดำเนินงาน
(๓) สถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารหรือคำแนะนำในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ
(๔) กฎ มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือเวียน ระเบียบ แบบแผน นโยบาย หรือการตีความ ทั้งนี้ เฉพาะที่จัดให้มีขึ้น โดยมีสภาพอย่างกฎ เพื่อให้มีผลเป็นการทั่วไปต่อเอกชนที่เกี่ยวข้อง
(๕) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อมูลข่าวสารใดที่ได้มีการจัดพิมพ์เพื่อให้แพร่หลายตามจำนวนพอสมควรแล้ว ถ้ามีการลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาโดยอ้างอิง ถึงสิ่งพิมพ์นั้นก็ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติวรรคหนึ่งแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐรวบรวมและจัดให้มีข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่ง ไว้เผยแพร่เพื่อขายหรือจำหน่ายจ่ายแจก ณ ที่ทำการ ของหน่วยงานของรัฐแห่งนั้นตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๙

ภายใต้บังคับมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๕ หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด
(๑) ผลการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน รวมทั้งความเห็นแย้งและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาวินิจฉัย ดังกล่าว
(๒) นโยบายหรือการตีความที่ไม่เข้าข่ายต้องลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๗ (๔)
(๓) แผนงาน โครงการ และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของปีที่กำลังดำเนินการ
(๔) คู่มือหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลกระทบถึงสิทธิหน้าที่ของเอกชน
(๕) สิ่งพิมพ์ที่ได้มีการอ้างอิงถึงตามมาตรา ๗ วรรคสอง
(๖) สัญญาสัมปทาน สัญญาที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอนหรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดทำบริการสาธารณะ
(๗) มติคณะรัฐมนตรี หรือมติคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยกฎหมาย หรือโดยมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ให้ระบุรายชื่อรายงาน ทางวิชาการ รายงาน ข้อเท็จจริง หรือข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาไว้ด้วย
(๘) ข้อมูลข่าวสารอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด

ข้อมูลข่าวสารที่จัดให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีส่วนที่ต้องห้ามมิให้เปิดเผยตามมาตรา ๑๔ หรือมาตรา ๑๕ อยู่ด้วย ให้ลบหรือตัดทอนหรือทำโดยประการอื่นใดที่ไม่เป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ส่วนนั้น บุคคลไม่ว่าจะมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีสิทธิเข้าตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูลข่าวสารตามวรรคหนึ่งได้

ในกรณีที่สมควรหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ จะวางหลักเกณฑ์เรียกค่าธรรมเนียม ในการนั้นก็ได้ ในการนี้ให้คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยประกอบด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น คนต่างด้าวจะมีสิทธิตามมาตรานี้เพียงใดให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง


Towards universal information access…

เรื่องของ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถ้วนหน้า (universal information access) นี่ มีหลายประเด็น
นอกเหนือจากเรื่องมาตรฐานเปิด เช่น ยังมีเรื่องของ ความสามารถในการเข้าถึง (accessibility) หรือพูดง่าย ๆ ว่า ความสะดวกในการใช้งาน ด้วย — ถ้าบนเว็บก็คือ web accessibility เช่น ตัวอักษรเล็กไปมั๊ย สีอ่านยากมั๊ย เพราะบางคนมีปัญหาทางสายตา หรือ เมนูใช้ลำบากเกินไปรึเปล่า เพราะบางคนมีความบกพร่องทางร่างกายทำให้คลิกเมาส์เร็ว ๆ ไม่ได้
หรือว่าข้อมูลนั้นค้นหาเจอได้ง่ายรึเปล่า ฯลฯ อะไรพวกนี้ ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบสารสนเทศและการใช้งาน (information design/interaction design) อยู่ด้วย — คืออันนี้ไม่ได้พูดถึงว่าต้องง่ายสุด ๆ นะ แต่อย่างน้อยต้องยากไม่เกินระดับที่จะทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร

ซึ่งบางประเทศ บางเมืองในสหรัฐอเมริกา เช่น นิวยอร์ก ได้ประกาศกฎหมายบังคับให้เว็บของหน่วยงานรัฐทุกแห่ง ต้องสอบผ่านมาตรฐานเรื่อง web accessibility นี้แล้ว

ดูเรื่องนี้ต่อได้ที่ Wikipedia
และ W3C

สำหรับนอกเว็บ แต่ยังเกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสารแบบดิจิทัลอยู่ ก็เช่น พวก kiosk ตู้บริการข่าวสารตามถนน ตามท่ารถ สถานที่ราชการ บริการสาธารณะ พวกนี้ก็ต้องออกแบบมาให้ทุก ๆ คนใช้ได้ด้วย เช่น ผู้มีปัญหาด้านประสาทสัมผัส หูไม่ค่อยดี ตาฝ้าฟาง ก็ต้องใช้ได้ หรือมีความบกพร่องทางกายภาพ นั่งรถเข็น หรือมือพิการ ก็ต้องใช้ได้

อย่าง ตู้บริการข่าวสาร ที่มีแป้นเหยียบให้ใช้เท้าเลือกเมนูได้ แทนการใช้มือกดหน้าจอสัมผัส หรือ ปุ่มขอความช่วยเหลือจากพนักงานเดินรถที่สถานีรถไฟ ที่ต้องมีปุ่มที่ต่ำกว่าระดับปกติด้วย เพื่อให้คนที่นั่งรถเข็นกดได้สะดวก และไมค์และลำโพงก็ต้องมีอีกชุดที่อยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับปุ่มอีกปุ่มที่ว่าด้วย

เหล่านี้คือสิ่งที่จะช่วยให้ พลเมืองทุกคน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

technorati tags:
,
,

Exit mobile version