Out of 20, we got 1 1/2. Ok, that’s something. Move on.


Office of the Official Information Commission (O.I.C.) asked Ministry of Information and Communication Technology to reveal names of people who MICT has contacted with for blocking business (item no.12) and partially-disclosed blocklist (item no.15), as requested by an Internet freedom group, Freedom Against Censorship Thailand.

MICT admitted that it has blocked 1,893 websites before the Computer-related Crime Act came into enforcement — Porn 1,663 / Selling illegal goods (e.g. IP violation) 161 / Lese majeste 26 / Against national security 21 / Gambling 21 / Against religion and good moral 1.

18 (and a half) questions still remain unanswered.

“คำตอบ” มาแล้ว (อ่านความเป็นมาด้านล่าง)

กระทรวงไอซีที ยอมรับ เคยขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบล็อคเว็บไซต์ 1,893 แห่ง
ยันไม่เคยทำอีกแล้วหลัง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 บังคับใช้

แปล(เอาเอง)ได้ว่า : การบล็อคเว็บไซต์ที่ทำไปก่อนหน้าพ.ร.บ.คอมฯ บังคับใช้ ทำไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ —
แต่กระทรวงไอซีทีอาจไม่ได้มีความผิดตามกฎหมาย เพราะเป็นเพียงการ “ขอความร่วมมือ” เท่านั้น

กำกวม : ที่ไอซีทีบอกว่า “ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 เมื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผลบังคับใช้ กระทรวงไอซีทีก็ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวอีก” นั้น ไม่ชัดเจนว่า ไอซีทีหยุดดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่เดือนไหนกันแน่ ตั้งแต่ พฤษภาคม 2550 หรือ ตั้งแต่ กรกฎาคม 2550 (พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้) ? — พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 18 มิถุนายน 2550, มีผลบังคับใช้ 18 กรกฎาคม 2550 — ช่วงเวลาแตกต่างกัน 2-3 เดือน

บางส่วนของข่าว…

ผู้สื่อข่าว ‘มติชนออนไลน์’ รายงาน เมื่อวันที่ 27 เมษายนว่า คำวินิจฉัยคณะกรรมการการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร (ที่ วท 2/2551) ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ยอมรับว่า ก่อน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ในการขอให้ยุติหรือระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมโดยดำเนินการใน ลักษณะการเสนอแนะผ่านทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ซึ่งทำให้มีเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคจำนวนทั้งสิ้น 1,893 ราย ทั้งนี้ระบุเหตุผลที่ถูกบล็อคประกอบท้ายรายชื่อเว็บไซต์ต่าง ๆ ดังกล่าว

ปรากฏว่า รายชื่อเว็บไซต์ถูกบล็อคด้วยเหตุผลเผยแพร่ภาพสื่อลามกอนาจาร จำนวน 1,663 ราย

เว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ จำนวน 21 ราย

เว็บไซต์มีเนื้อหาที่อาจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 26 ราย

เว็บไซต์ที่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับการพนัน จำนวน 21 ราย

เว็บไซด์ที่หลอกลวงประชาชนโดยโฆษณาเผยแพร่ขายสิ่งผิดกฎหมยในลักษณะเป็น VCD จำนวน 161 ราย

เว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลที่ขัดต่อศีลธรรมทางศาสนา จำนวน 1 ราย

[…]

กวฉ.สาขาวิทยาศาสตร์ฯ พิจารณาเห็นว่า ข้อมูลตามข้อที่ 12 (ที่กระทรวงไอซีทีขอความร่วมมือทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) ไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ในการปิดกั้นเว็บไซต์) ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ประมวลสรุปแล้วจัดส่งมาให้กวฉ.ฯ นั้นเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยโดยทั่วไปอยู่แล้ว เพียงแต่กระทรวงไอซีทีได้ประมวลสรุปจัดทำขึ้นและมีอยู่ในความครอบครองหรือ ควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐจึงเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่เปิดเผยได้

สำหรับข้อมูลข่าวสารข้อที่ 15 (รายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้น) นั้น จากคำชี้แจงของผู้แทนกระทรวงไอซีทีไม่มีเหตุที่จะฟังได้ว่าการเปิดเผยจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงหรือทำให้การบังคับกฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ยื่นขอรับใบอนุญาตทุกรายต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว และการบล็อคเว็บไซต์เป็นเพียงกรณีการขอความร่วมมือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตช่วยกันเฝ้าระวังตรวจสอบร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาการเผยแพร่สื่อที่ไม่เหมาะสมทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของกระทรวงไอซีทีที่จะสามารถปิดกั้นเว็บไซต์ได้ อย่างไรก็ตาม รายชื่อเว็บไซต์ทั้งหมดที่ถูกบล็อคนั้น การเปิดเผยรายชื่อดังกล่าวอาจกระทบต่อส่วนได้เสียของเจ้าของเว็บไซต์ที่มีรายชื่อเหล่านั้นได้ และจากการชี้แจงด้วยวาจาของกลุ่มผู้อุทธรณ์ว่า ต้องการข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางวิชาการว่า มีเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคจำนวนเท่าใด ถูกบล็อคด้วยเหตุใดบ้าง ดังนั้น จึงเห็นสมควรให้เปิดเผยจำนวนเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคในลักษณะของข้อมูลกลุ่มที่จำแนกแยกประเภทโดยให้ได้รู้ว่า มีเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคด้วยเหตุใด จำนวนเท่าใด เท่านั้น ซึ่งการรวบรวมและจำแนกแยกประเภทดังกล่าวได้ปรากฏในคำวินิจฉัยนี้แล้ว

ฉะนั้น กวฉ.สาขาวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีมติให้กระทรวงไอซีทีเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามอุทธรณ์ข้อที่ 12 ทั้งหมด และข้อที่ 15 ในลักษณะเป็นกลุ่มแยกประเภทเว็บไซต์ที่ถูกบล็อคตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้ระบุไว้ข้างต้นแล้ว

ข้อมูลข่าวสารข้อที่ 12 และข้อที่ 15 คือ

12) ชื่อ ตำแหน่ง และข้อมูลการติดต่อสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) แต่ละรายที่กระทรวงไอซีทีขอความร่วมมือในการบล็อกเว็บไซต์

15) สำเนารายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกบล็อก (blocklist) ของกระทรวงไอซีที ฉบับสมบูรณ์

(ดูข้อมูลข่าวสารทั้ง 20 ข้อ ที่ FACT ร้องขอ)

อ่านรายงานข่าวฉบับเต็มที่ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) – อ้างข่าวจาก มติชนออนไลน์, ‘ไอซีที’ รับสั่งบล็อกเว็บเกือบ 1,900 ราย เป็นพวกลามกสูงสุด เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 26 แห่ง, 27 เมษายน 2551


เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 FACT (เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย) ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้ามาตรวจสอบการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตโดยรัฐ (ท้ายคำร้องเรียนดังกล่าวลงชื่อผู้สนับสนุน 257 ชื่อ ซึ่งรวมถึงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิเสรีภาพ และจำนวนดังกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขณะนี้มีมากกว่า 700 ชื่อแล้ว)

แม้ว่าคณะกรรมการฯ จะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงไอซีที (ในขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และมีนายสิทธิชัย โภไคยอุดม เป็นรัฐมนตรีว่าการฯ) หลายครั้ง กระทรวงไอซีทีก็ยังปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 FACT จึงได้ออกแถลงการณ์ และยื่นจดหมายต่อกระทรวงไอซีที ขอให้เปิดเผยรายละเอียดของการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต 20 ข้อ ตามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ ตามสิทธิอันพึงมีและได้รับรองไว้ใน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 — ซึ่งคำถามหลักก็คือ กระทรวงไอซีทีใช้อำนาจอะไรในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ? มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร ? และปิดกั้นเว็บไซต์อะไรไปแล้วบ้าง ? ซึ่งทั้งหมดเป็นคำถามเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ของการทำงานของรัฐ

(พ.ร.บ.ข่าวสารของราชการฯ กำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนร้องขอภายใน 30 วัน เว้นว่าจะมีเหตุผลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติหรือการบังคับใช้กฎหมาย หากหน่วยงานรัฐไม่เปิดเผยข้อมูลภายในเวลาดังกล่าว ประชาชนผู้ร้องขอข้อมูลสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลความโปร่งใสของรัฐ จัดตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” พ.ศ. 2540)

ในวันที่ 8 มีนาคม 2550 กระทรวงไอซีทีได้ตอบคำถาม 20 ข้อดังกล่าว (ที่ ทก 0200.14/1258?) [PDF, 25 หน้า, 7 MB] โดยอ้างว่ามีอำนาจในการปิดกั้นอินเทอร์เน็ตตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (หากเป็นเช่นนั้นจริง แล้วกฎหมายใดที่มอบอำนาจกระทรวงไอซีทีให้ปิดกั้นอินเทอร์เน็ตก่อนเกิดรัฐประการในวันที่ 19 กันยายน 2549?) นอกจากนั้น กระทรวงไอซีทียังปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้น หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการปิดกั้น หรือรายละเอียดวิธีการปิดกั้น ไม่ยอมแม้กระทั่งเปิดเผยจำนวนเว็บไซต์ที่ปิดกั้น โดยอ้างว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือการเปิดเผยจะทำให้การบังคับให้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ

เนื่องจากการคำตอบดังกล่าวไม่เป็นที่พอใจ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 FACT จึงได้เข้ายื่นคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เพื่อขอให้ สขร. ออกคำสั่งให้กระทรวงไอซีทีเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนร้องขอ

ทาง สขร. ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา หลังจากนั้นทาง FACT ก็ได้มีการโต้ตอบส่งจดหมายชี้แจงเพิ่มเติมตามที่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ (คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการกรณีร้องเรียนให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการใช้อำนาจตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540) ร้องขอเรื่อยมา

ในระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และอีก 30 วันต่อมา เมื่อ 18 กรกฎาคม 2550 ก็มีผลบังคับใช้

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา (หลังเลือกตั้งทั่วไป และก่อนจะได้รัฐบาลใหม่ ที่มีนายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรี) ทาง FACT ได้เข้าไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ

วันที่ 27 เมษายน 2551 คณะกรรมการการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมและการเกษตร ก็ได้เปิดเผยข้อมูลคำวินิจฉัย ที่ วท 2/2551 (รายงานคำวินิจฉัยดังแสดงด้านบน)


ติดตามข่าวสารเรื่องสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารได้ที่เว็บไซต์

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)

และข่าวสารเรื่องการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์

เครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย (FACT)

technorati tags: , , , , ,


2 responses to “Out of 20, we got 1 1/2. Ok, that’s something. Move on.”

  1. สรุปว่า เราใช้เวลาไปประมาณ 1 ปี 4 เดือนและได้คำตอบมาประมาณ 7.5% ของที่ร้องขอไป(1 ข้อครึ่ง จาก 20)

  2. ซึ่งข้อมูลที่ได้ ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์เท่าไรนักจะมีก็แค่ ทำให้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามีการปิดกั้นเว็บไซต์จริง ในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายรับรอง**(แม้จะไม่ใช่ไอซีทีทำเอง แต่ก็เป็นการริเริ่มโดยไอซีที)**แต่ในปัจจุบันการปิดกั้นเว็บไซต์ก็มีกฎหมายรับรองเรียบร้อยแล้ว(แล้วการกระทำที่เกิดขึ้นตอนนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นตอนนั้น จะสามารถเรียกร้องย้อนหลังจากใครได้ไหม ?)

Leave a ReplyCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Exit mobile version