10th Anniversary – Right to Know


หนึ่งทศวรรษ สิทธิที่จะรู้

คอลัมน์ “ข้าราษฎร” โดย “สายสะพาย”
หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10861 (หน้า 26)

ดร.นคร เสรีรักษ์ เขียนบทความ ในโอกาสที่ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มีอายุครบ 1 ทศวรรษ เริ่มใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2540 จึงมีอายุครบ 10 ปี ในวันที่ 10 ธันวาคม 2550

กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ “หน่วยงานของรัฐ” มีหน้าที่ “เปิดเผย” ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชน ข้าราชการจึงต้องปฏิบัติงานด้วยความรอบคอบและโปร่งใสมากขึ้น เพราะเอกสารต่าง ๆ อาจถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา

แม้จะเป็นกฎหมายที่มีอายุเพียง 10 ปี แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และส่งผลให้สะเทือนอย่างมากในกระบวนการพัฒนาธรรมาภิบาล ในฐานะกลไกขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปด้วยความโปร่งใสตรวจสอบได้

แม้หน่วยงานของรัฐจะมีคำสั่งไม่ให้เปิดเผยข้อมูล ประชาชนยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์เพื่อให้มีการทบทวนคำสั่งได้

กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งหน่วยงานของรัฐในรูปแบบต่าง ๆ มีหน้าที่ที่ต้องให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณะ โดยมีวิธีการ “เปิดเผย” ข้อมูล 3 วิธี คือ การนำข้อมูลลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา การจัดข้อมูลไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดู และการจัดหาข้อมูลให้ประชาชนเป็นการเฉพาะราย

แต่จนถึงวันนี้หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง ยังคงไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีความพยายามที่จะผลักดันและกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐมีการปฏิบัติตาม กฎหมายอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้นตลอดมา

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (กขร.) ได้ผลักดันกิจกรรมเป็นการสนับสนุนการใช้กฎหมายข้อมูลข่าวสารเป็นกลไกเสริมสร้างความโปร่งใสองค์กรภาครัฐ เช่น สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการทุกแห่ง ในปี 2550-2551

นอกจากนั้นมีการเสนอปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน เช่น ให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางใหม่สำหรับให้บริการข้อมูลข่าวสารที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

การเสนอออกกฎหมายใหม่ เพื่อขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัวในข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความครอบครองของเอกชน โดยการจัดทำกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ

ในปี 2550 ยังมีการพัฒนาหลักเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใส เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานและดัชนีชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ซึ่ง กขร.ได้เสนอขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี เพื่อมอบหมายให้ กขร. และสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เป็นองค์กรหลักในการติดตามประเมินความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ


แถม: Nakorn Serirak, 2001. Challenges of Thailand’s Freedom of Information

technorati tags:
,
,


Leave a ReplyCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Exit mobile version