กรณีข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลเพชรบูรณ์หลุดรั่ว


ข้อมูลคนไข้ที่หลุดรั่วออกมา มีชื่อ-สกุลของคนไข้ วันเดือนปีเกิด เพศ ชื่อหมอ ค่าใช้จ่าย สถานะการจ่าย ประเภทสิทธิการรักษา ชื่อวอร์ด

ชื่อวอร์ดนี่ตั้งตามชื่อกลุ่มโรค ก็อาจเป็นข้อมูลอ่อนไหวได้

ประเภทสิทธิการรักษา บางประเภทบอกสถานะความพิการได้

ข้อมูลวันเดือนปีเกิด พอประกอบกับการที่หน่วยงานหลายแห่ง มักใช้วันเดือนปีเกิดเป็นรหัสผ่านตั้งต้น (ทั้งสำหรับลงทะเบียนเข้าระบบ หรือปลดล็อกเอกสาร PDF) มันก็เลยทำให้อันตราย

ข้อมูลชื่อคนไข้ ประกอบกับชื่อหมอ ชื่อกลุ่มโรค ประเภทสิทธิรักษา การเบิกจ่าย พวกนี่เอาไปสร้างความน่าเชื่อถือและหาจุดอ่อนของเป้าหมาย เป็น social engineering เพิ่มโอกาสสำเร็จในการหลอกลวง

ข้อมูลเหล่านี้จำนวนนึงเป็นข้อมูลที่ฝังติดตัวมาตั้งแต่เกิดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (เช่นวันเกิด) หลุดแล้วหลุดเลย อีกส่วนสามารถเปลี่ยนได้ แต่ยุ่งยาก เช่นชื่อสกุลนี่จริงๆ ก็เปลี่ยนได้ แต่ต้องวุ่นวายตามไปเปลี่ยนอีกหลายที่ ไม่เหมือนรหัสผ่านที่อย่างน้อยยังเปลี่ยนได้ง่ายๆ (ถ้าจำได้ว่าเคยไปตั้งรหัสนี้เอาไว้ที่ไหนบ้าง)

ชุดข้อมูลเหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องถูกใช้เดี่ยวๆ มันอาจเอาไปประกอบกับข้อมูลชุดอื่นที่หลุดมาก่อนหน้าหรือที่จะหลุดในอนาคตด้วยก็ได้

แม้จนถึงตอนนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะถูก “เลื่อน” หรือยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับอยู่เกือบทุกมาตราที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง (เลื่อนมา 2 รอบละ) แต่มาตรา 4 วรรค 3 ยังไงก็ยังใช้บังคับอยู่นะ

“ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลตามวรรคหนึ่ง (2) (3) (4) (5) และ (6) และผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของหน่วยงานที่ได้รับยกเว้นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสอง ต้องจัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วย”

และน่าจะมีอย่างน้อยอีก 4 พ.ร.บ.ที่พอจะใช้ได้ ในมุมของผู้ได้รับผลกระทบ

1) โดยตัวข้อมูล เนื่องจากเป็นข้อมูลสุขภาพ ก็มี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 แต่ในรายละเอียดน่าจะมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากไม่ได้ระบุเรื่องข้อมูลรั่วไหลตรงๆ แต่อาจจะไปพึ่ง “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” อีกต่อหนึ่ง ซึ่งไกลอยู่

ข้อ 69 ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 “ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือการบริการต้องได้รับการชดเชยและเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม และรวดเร็ว”

ข้อ 1 (6) ในหมวดการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 “สิทธิในการร้องเรียนและสิทธิในการได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายจากการบริโภค”

2) โดยตัวหน่วยงาน ถ้าเป็นโรงพยาบาลของกระทรวงเอง (ไม่ใช่ของมูลนิธิ ของบริษัท ของสภากาชาดไทย) ก็จะเป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่ง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ในมาตรา 23 ได้กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ดูแลข้อมูลอยู่

“หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลดังต่อไปนี้ จัดระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ระบบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล ตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้มีการนำไปใช้โดยไม่เหมาะสมหรือเป็นผลร้ายต่อเจ้าของข้อมูล […] ต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบในกรณีมีการจัดส่งข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปยังที่ใดซึ่งจะเป็นผลให้บุคคลทั่วไปทราบข้อมูลข่าวสารนั้นได้ […]”

3) ซึ่งพอเป็นหน่วยงานรัฐ ก็จะเข้าอีกกฎหมายคือ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ในมาตรา 12

“เพื่อให้การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลเป็นไป
ตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 4 […] ให้หน่วยงานของรัฐ […] ดำเนินการดังต่อไปนี้ให้เป็นไปตามธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐตามมาตรา 8 จัดให้มีมาตรการหรือระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยในการเข้าสู่บริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้มีความพร้อมใช้ น่าเชื่อถือ และสามารถตรวจสอบได้ โดยอย่างน้อยต้องจัดให้มี ระบบป้องกันหรือรับมือกับภัยคุกคามหรือความเสี่ยงทางไซเบอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ […]”

(ดูประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพิ่ม)

  1. พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ซึ่งถูกอ้างอิงจากกฎหมายอื่นๆ ข้างบน

ตอนนี้ขั้นต่ำสุดคือ โรงพยาบาลและกระทรวงต้องรีบแจ้งเจ้าของข้อมูล ว่าเกิดอะไรขึ้น ตัวเขาจะได้ระวัง เพื่อลดผลกระทบ

ไม่ต้องรอประเมินหรือพิสูจน์ความเสียหาย เรื่องพวกนั้นมันสำหรับขั้นต่อไปที่เกรงว่าข้อมูลจะถูกนำไปใช้ ขั้นนี้คือ ข้อมูลหลุดเป็นเรื่องที่เกิดสำเร็จแล้ว การแจ้งนี้อยู่ในวิสัยที่ทำได้ทันที กระทรวงบอกว่าได้ตรวจสอบรายชื่อแล้ว แปลว่ามีชื่อในมือแล้ว และโรงพยาบาลก็ควรมีช่องทางติดต่อกับคนไข้อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนไข้ที่ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากกองทุนต่างๆ

ช่วงที่ผ่านมามีกรณีหลุดรั่วแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ กับข้อมูลสุขภาพ/สาธารณสุข เช่นกรณีเว็บไซต์ลงทะเบียนรับวัคซีนของชาวต่างชาติในประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลผู้ลงทะเบียนกว่า 2 หมื่นคน มีทั้งชื่อ สกุล วันเกิด สัญชาติ ที่อยู่

หมอนวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ โพสต์ความเห็นส่วนตัวต่อเรื่องนี้ไว้ในเฟซ


Leave a ReplyCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Exit mobile version