ค้าปลีกดิจิทัล – การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย


วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเชียงใหม่เพื่อร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬา เรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของการค้าปลีก ตอนแรกก็บอกกับคนจัดไปแล้วว่าไม่ค่อยมีความรู้เรื่องค้าปลีกอะไรเลย แต่ทางผู้จัดก็บอกว่ามันเป็นวงของนักวิจัยที่เขาจะไปศึกษาเรื่องนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีนักวิจัยหลายสาขาไปศึกษาต่ออยู่แล้ว เราไปแชร์มุมของเราในประเด็นผลกระทบทางสังคมก็พอ ก็เลยอะ ลองดู

หัวข้อที่พูดคือชวนวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) โดยมองไปมากกว่าเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย แต่รวมไปถึงคนที่อยู่รายล้อมอื่นๆ ด้วย กรอบที่ใช้ก็ไปยืมวิธีวิเคราะห์การเคลื่อนย้ายของ ทุน สินค้า บริการ และคน ใน “four freedoms” ของนโยบายตลาดเดียวของสหภาพยุโรป (European Single Market) มามอง เผื่อจะมองเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประเด็นทางสังคมากขึ้นหรือไม่ เช่น

  • เมื่อคนไปซื้อของในพื้นที่ออนไลน์มากขึ้น ใช้บริการส่งสินค้ามากขึ้น จะมีการเดินในย่านการค้าหรือละแวกบ้านน้อยลงไหม จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในการจัดพื้นที่กิจกรรมในเมืองบ้าง ย่านจะเปลี่ยวขึ้นรึเปล่า แล้วขยะจากบรรจุภัณฑ์ล่ะ
  • เมื่อมีการเคลื่อนย้ายสินค้าบนถนนมากขึ้น และความคาดหวังของคนที่ต้องการสินค้าด่วนขึ้น สิ่งนี้จะกระทบอย่างไรกับความปลอดภัยของคนที่ร่วมใช้รถใช้ถนน ต้องมีที่จอดมอเตอร์ไซค์มากขึ้นไหม
  • เมื่อกิจกรรมต่างๆ ไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลหรือมีมิติดิจิทัลพ่วงไปด้วย ก็จะเกิดการเก็บข้อมูลของการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นของทุน สินค้า บริการ หรือคน สิ่งนี้จะไปเกี่ยวกับประเด็นความเป็นส่วนตัว การเลือกปฏิบัติ หรือการสะสมอำนาจอะไรไหม
  • เมื่อตลาดและผู้ขายจำนวนหนึ่งอยู่ต่างประเทศ สิ่งนี้จะกระทบกับความสามารถในการกำกับที่เกี่ยวข้องไหม เช่น คุณภาพสินค้า การโฆษณาสรรพคุณ การเคลมสินค้า การร้องเรียน ชนิดภาษีที่สามารถจัดเก็บได้-ความสามารถในการดำเนินนโยบายภาษีที่เป็นธรรม การสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมที่น้อยลง
  • เมื่อพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางวัฒนธรรม ทางการเมือง มันแยกขาดจากกันชัดเจนบนพื้นที่ออนไลน์ เทียบกับพื้นที่ออฟไลน์ที่เวลาเราไปเดินตลาดเดินห้าง ยังได้เจอของที่เราประหลาดใจ ไม่ได้ตั้งใจไปเจอ แต่ก็ได้เจอ เช่น เจอคนประท้วง เจอคนแจกใบปลิว เจอคนชวนลงชื่อแคมเปญต่างๆ การแบ่งแยกพื้นที่แบบนี้ จะทำให้การมีส่วนร่วมทางสังคมการเมืองมันลดลงหรือเปล่า เราจะไปยืนประท้วง “หน้าห้างออนไลน์” ได้อย่างไร

นอกนั้นก็ลองเอาวิธีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางอำนาจของฝั่งการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการรวมตัวของแรงงาน ในธุรกิจค้าปลีก จากบทความ Barcode Empires: Politics, Digital Technology, and Comparative Retail Firm Strategies (Watson, 2011) กับการแจกแจงผู้เกี่ยวข้องตามเส้นทางค้าปลีก (ทำแบบ user journey) จากรายงาน Disruptions in retail through digital transformation: Reimagining the store of the future (Deloitte, 2017) มาเล่านิดๆ หน่อยๆ เผื่อนักวิจัยเขาจะสนใจไปดูต่อ

ไม่ได้มีข้อเสนออะไร เพียงแค่ชวนนักวิจัยในห้องคุยประเด็นพวกนั้น และดูว่าจะขยายประเด็นผลกระทบทางสังคมไปยังไงได้อีกบ้าง อาจจะมีชวนนิดหน่อยว่าน่าจะลองไปศึกษาตัว “sites” หรือสถานที่ที่เกิดกิจกรรม/ธุรกรรม ทั้งการผลิต-สะสม (“Things” at Rest) และการแลกเปลี่ยน (“Things” in Transit) ซึ่งก็มโนๆ ขึ้นมานะ

เรื่องที่สนใจอันนึงคือ แล้วใครควบคุม sites เหล่านั้น? ความสัมพันธ์เชิงอำนาจมันเป็นยังไง?

ลิงก์นี้คือสไลด์ครับ: Beyond retailer-consumer relationships

Exit mobile version