หนังสือสองเล่มชื่อคล้าย ๆ กัน เล่มแรกเก็บได้จากร้านหนังสือก็องดิด เมื่อปีที่แล้ว เล่มสองฉกมาจากร้านหนังสือใกล้ ๆ สตาร์บั๊คส์ นิมมาน เชียงใหม่ เมื่อไม่นานนี้
“คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม” โดย ต้นข้าว ปาณินท์ (สำนักพิมพ์สมมติ, 2553) เล่มนี้อ่านจบแล้วรอบนึงแบบงง ๆ และอยากจะอ่านซ้ำอีก หลักใหญ่ใจความอันหนึ่งที่จับได้ คือคอปเซปต์ของ Raum ที่เราจำเป็นต้องเข้าใจ เมื่อจะอ่านทฤษฎีพื้นที่สำนักเยอรมัน เพราะมันไม่ได้เป็นแค่ “space” ที่ว่าง ที่ไม่ว่าง ในฐานะนักเรียนมานุษยวิทยา ผมชอบคำว่า “คน” ในชื่อหนังสือเล่มนี้ ผมเชื่อว่าโจทย์ของสถาปัตยกรรมคือ คุณจะเอาคนไปไว้ตรงไหน ผมไม่คิดว่าเราจะมีความสุขในเมืองที่ถูกออกแบบมาเพื่อรถ ผมไม่ชอบสะพานลอย สะพานลอยคือวัตถุแห่งความชั่วร้าย มันคือตัวแทนของแนวคิดที่เอารถยนต์เป็นใหญ่
“คำ ความคิด สถาปัตยกรรม” โดย ปิยลดา เทวกุล ทวีปรังษีพร (สำนักพิมพ์ลายเส้น, 2554) ยังไม่ได้อ่านเยอะนัก พลิกผ่าน ๆ แต่บทที่ว่าด้วยโพสต์โมเดิร์นนั้นน่าสนใจดี คืออยากอ่านเพิ่มเติม เพื่อจะได้เห็นว่า โพสต์โมเดิร์นในฐานะขบวนการและในฐานะโลกทัศน์ของยุคสมัย ในทางสถาปัตยกรรมแล้วมันยังไง
เมื่อตอนที่ “ดีไซน์+คัลเจอร์” เล่มแรก โดย ประชา สุวีรานนท์ (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2551) ออกมา ผมกรี๊ดหนังสือเล่มนี้มาก จำได้ว่าซื้ออยู่หลายเล่ม เอาไปฝากคนนั้นคนนี้ รวมถึงห้องสมุดที่คณะ คือปลื้มน่ะ อยากจะมีคนคุยเรื่องเดียวกัน
มีอยู่ครั้งหนึ่งไปเดินข้าวสาร เห็นเสื้อยืดลายสวยดี สกรีนคำว่า “คนชั้นกลาง” เป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ (หลายคนคงเคยเห็นผมใส่) ก็ได้คุยกับคนขาย บอกว่าเป็นนักศึกษา เรียนสถาปัตย์อยู่บางมด มีวิศวะคนนึง ในกระเป๋าผมวันนั้นมี “ดีไซน์+คัลเจอร์” อยู่พอดี นึกขึ้นมาได้ ก็เลยเอามาเปิด ๆ ให้เขาดู เล่าเรื่องหนังสือ และคะยั้นคะยอให้น้องเขาไป
เมื่อปีที่แล้ว ไปลิทัวเนียกะฮังการี ก็พก “คนและความคิดทางสถาปัตยกรรม” ไปด้วย ช่วงเวลาที่เดินทาง ใกล้ไกล น่าจะเป็นช่วงที่ได้อ่านหนังสือเยอะที่สุดสำหรับผม ที่บูดาเปสต์พวกเราได้พบกับนักเรียนไทยนางหนึ่ง ที่ต้อนรับขับสู้แนะนำโน่นนี่กับพวกเราเป็นอย่างดี ก็นึกขึ้นมาได้อีกว่า อืม ตอนที่เราอยู่ไกลจากเมืองไทย ก็มีความรู้สึกว่าหนังสือภาษาไทยนี่มันเป็นของมีค่าว่ะ คือหาอ่านลำบาก (ไม่นับ “คู่สร้างคู่สม” ที่พบได้ในแม้กระทั่งซูเปอร์มาร์เก็ตเวียดนาม) ก็เลยฝากเอาหนังสือที่ว่าเล่มนั้น พร้อมกับ “วารสารอ่าน” ฉบับล่าสุด ให้กับเธอ (ตอนที่พก “อ่าน” ไปนั้น ก็คิดในใจอยู่แล้วว่า จะไม่เอากลับ จะฝากใครสักคนนี่แหละ)
เมื่อคืน ไปนั่งกินเบียร์แถวพระอาทิตย์ เนื่องในโอกาสอากาศเย็น เอา “คำ ความคิด สถาปัตยกรรม” ไปอ่านด้วย ปกติร้านที่ไป คนจะไม่เยอะ เงียบ ๆ แต่สงสัยเพราะอากาศดี คนเต็มทุกโต๊ะเลย มีฝรั่งจากเฮมล็อกมาแจมด้วย ใส่สูทมาเต็มยศ พร้อมเด็กตัวเล็กตัวใหญ่สองคน โต๊ะตรงข้ามเป็นนักศึกษากลุ่มเบ้อเร่อ เฮฮา ได้คุยด้วย เป็นนักศึกษาสถาปัตย์ธรรมศาสตร์กับบางมด
กลับมาบ้าน หนังสือเปลี่ยนมือไปอยู่กับคนอื่นอีกแล้วล่ะ
ผมเป็นพวกเรี่ยราดนะ
(โพสต์ครั้งแรกในโน๊ตเฟซบุ๊ก 19 มี.ค. 2011)