ดูพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฟิลิปปินส์ แล้วคิดถึงพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไทย — ประเด็น “ข้อมูลคอมพิวเตอร์”


12 ก.ย. 2555 ฟิลิปปินส์ออกกฎหมายป้องปรามอาชญากรรมไซเบอร์ Cybercrime Prevention Act of 2012 (อ่านกฎหมายทั้งฉบับที่เว็บ gov.ph — เว็บรวมๆ เขาทำดีนะครับ แต่หน้ากฎหมายนี่อ่านยากไปหน่อย จัดหน้าไม่ดี)

ความผิดที่กำหนดตามกฎหมายนี้ แบ่งเป็น 3 หมวด (ใน Chapter II, Punishable Acts – Sec.4.)

  • (a) ความผิดต่อการรักษาความลับ ความสมบูรณ์ และความมีสภาพพร้อมใช้งานของข้อมูลคอมพิวเตอร์และระบบคอมพิวเตอร์ (Offenses against the confidentiality, integrity and availability of computer data and systems)
  • (b) ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (Computer-related Offenses)
  • (c) ความผิดเกี่ยวกับเนื้อหา (Content-related Offenses)

สรุปของหมวด (c) นี่อ่านที่บล็อกนันรายงานได้ มีเรื่องเช่น cybersex

ที่ผมสนใจคือหมวด (b) กับ (c) นี้ ถ้าเทียบกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทย มันจะไปรวมอยู่ในมาตรา 14 (ไม่เป๊ะซะทีเดียว บางเรื่องของเราไม่มี บางเรื่องเขาไม่มี) คือของฟิลิปปินส์นี่จะดีจะแย่ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ แต่อย่างน้อยเราบอกได้ว่า เขาเขียนได้ละเอียดและแบ่งได้ชัดเจนว่า อันไหนเกี่ยวกะเนื้อหา อันไหนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

เช่นถ้าเป็นหมิ่นประมาทออนไลน์ ของฟิลิปปินส์จะไปอยู่ใน Sec.4.(c)(4) Libel ถ้าเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันนี้เป็น Sec.4.(b)(2) Computer-related Fraud ถ้าเป็นของไทย มันจะมากองรวมกันอยู่ในมาตรา 14(2) (ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่น่าจะตรงกับเจตนารมณ์ในการร่างแต่ต้น ความตั้งใจตอนแรกมันจะให้เป็นเรื่อง computer data fraud เท่านั้น แต่ก็จะเห็นว่ามีคดีที่รับฟ้องในแบบหมิ่นประมาท/เชิงเนื้อหาแล้ว)

นอกจากนี้ของฟิลิปปินส์เอง ยังมีการใช้ภาษาที่น่าจะรัดกุมกว่า เช่นในเรื่องของข้อมูลปลอม Sec.4.(b)(i) ก็เขียนเงื่อนไขไว้ว่า “with the intent that it be considered or acted upon for legal purposes as if it were authentic” คือต้องมีเจตนาทำให้เหมือนว่ามันเป็นของจริงด้วย หรือ Sec.4.(b)(ii) ก็มีคำว่า “knowingly” (ตอนของไทยร่าง ก็มีการถกเถียงเรื่องถ้อยคำเกี่ยวกับ “เจตนา” นี้เหมือนกัน ถ้าดูตามบันทึกคณะกรรมการร่างฯ แต่สุดท้ายก็ใช้ฉบับตามปัจจุบัน คือไม่ได้ระบุไว้ แต่ให้เข้าใจเอาเองตามหลักอาญาว่าต้องมีเจตนา)

เรื่องโทษก็น่าสนใจ คือมีการกำหนดระดับของโทษที่ต่างกัน เมื่อเกิดออนไลน์/ออฟไลน์ เกิดความเสียหายแล้ว/ยังไม่เกิด

  1. ความผิดเรื่องข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม (Computer-related Fraud) และการขโมยเอกลักษณ์ (Computer-related Identity Theft) กรณีที่ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย โทษจะลดลงหนึ่งขั้น — “Provided, That if no damage has yet been caused, the penalty imposable shall be one (1) degree lower.”
  2. การเผยแพร่ภาพโป๊เด็กออนไลน์ จะมีโทษหนักขึ้นหนึ่งขั้น เทียบกับออฟไลน์ (อ้างอิงกฎหมาย Anti-Child Pornography Act of 2009 ที่มีอยู่เดิม)
  3. โทษอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ถูกกระทำผ่านหรือด้วยเครื่องมือไอซีที จะมีโทษหนักขึ้นหนึ่งขั้น (ข้อนี้ผมอ่านแล้วยังงงๆ อยู่ ยังไงใครพอรู้ช่วยที เขาว่างี้ “SEC. 6. All crimes defined and penalized by the Revised Penal Code, as amended, and special laws, if committed by, through and with the use of information and communications technologies shall be covered by the relevant provisions of this Act: Provided, That the penalty to be imposed shall be one (1) degree higher than that provided for by the Revised Penal Code, as amended, and special laws, as the case may be.”)

นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงความรับผิดของนิติบุคคลด้วย ใน Sec. 9. Corporate Liability.

จะบอกว่าของเขาออกทีหลัง เลยรัดกุม/ละเอียดกว่าก็ได้ คือได้ตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ — แต่เรื่องการละเมิดสิทธินี่ ยังเป็นปัญหาเหมือนกันนะครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้าเห็นแบบนี้แล้ว ของเราก็ควรจะแก้เสียที ดูเฉพาะตัวอย่างที่ดีของเขา เช่น ต้องทำให้ชัดเจนว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์[ที่ให้คอมพิวเตอร์อ่าน] กับ เนื้อหา[ที่ให้คนอ่าน] เป็นคนละเรื่องกัน จะเอามาปนกันไม่ได้ ไม่งั้นก็ฟ้องกันมั่วแบบในปัจจุบันนี้ ข้อเสนอแบบง่ายที่สุด ก็น่าจะเป็นการแก้นิยามคำว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์” ในมาตรา 3 ให้หมายถึงเฉพาะข้อมูลคอมพิวเตอร์จริงๆ

พูดแบบนี้ อาจจะมีคนบอกว่า แล้วจะไม่จัดการกับเนื้อหาแย่ๆ ออนไลน์เหรอ มันก็ยังทำได้ครับ ก็ไปเอาประมวลอาญามาปรับใช้ได้ หรือถ้าอยากระบุ ก็เอาแบบฟิลิปปินส์ก็ได้ คือเขียนให้อ้างอิงกับกฎหมายเดิม เพราะมันไม่ใช่ความผิดแบบใหม่ถอดด้าม เช่น หมิ่นประมาทออนไลน์ มันก็เหมือนหมิ่นประมาทออฟไลน์นั่นแหละ ส่วนจะเป็นซึ่งหน้าหรือผ่านสื่อ ก็ต้องพิจารณาตามที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เหมาไปหมดว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในความหมายว่าบุคคลที่สามหรือสาธารณะมาเห็นได้ เช่น ถ้าส่ง messege เฟซบุ๊กหรือ sms ที่เป็นการส่งแบบบุคคลต่อบุคคล ก็ไม่ควรจะนับเป็นหมิ่นผ่านสื่อ อะไรแบบนี้

Philippine Internet Freedom Alliance กำลังรณรงค์ปัญหาของกฎหมายนี้อยู่

เผยแพร่ครั้งแรก 5 ต.ค. 2555 ในเฟซบุ๊ก

,

Leave a ReplyCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Exit mobile version