ขอเรียนก่อนว่า ผมเห็นด้วยกับที่สมคิดเตือนให้ระวังการรัฐประหารเงียบ-ตั้ง “รัฐบาลแแห่งชาติ” ซึ่งตามความเห็นของสมคิดจะยิ่งเป็นภัยต่อระบบประชาธิปไตย ซึ่งผมก็เห็นด้วยอีก ที่แตกต่างในความคิดเห็นก็คือ ผมไม่เห็นว่าพอเรากลัวสิ่งนั้น แล้วจะต้องยอมที่ผู้นำเหล่าทัพออกมากดดัน
ที่ว่าถ้าไม่ออกไม่ยุบ จะทำให้ทหารต้องทำมากกว่านี้ “เพราะถ้าไม่ทำต่อก็จะเสียชื่อ จะเสียหายกว่าเดิม”
ผมว่าถ้าจำเป็น ก็คงต้องปล่อยผู้นำเหล่าทัพเขาเสียชื่อกันหน่อย (ให้สมชายชาติทหาร กล้าทำกล้ารับ)
และที่ว่าเสียหายนี่ ก็ไม่แน่ใจว่า สมคิดหมายถึง บ้านเมืองเสียหาย หรือ ชื่อเสียงทหารเสียหาย … นี่เราต้องเลือกจริง ๆ หรือนี่ ?
สมคิดกลัวว่าถ้าไม่ออกไม่ยุบ ทหารจะรัฐประหารโดยไม่ใช้กำลังด้วยการบีบนายกให้ออก แล้วตั้งรัฐบาลกลางขึ้นมาพร้อมกับอาจงดใช้รัฐธรรมนูญ (ที่คมช.ผลักดันเอง) บางมาตรา ดังนั้น “ถ้านายสมชายยังต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตย รักษาประเทศ รักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ ควรจะลาออกหรือยุบสภาโดยเร็ว” … เอ่อ แล้วทำไมไม่ไปบอกให้ทหารเลิกกดดันบ้างครับ ?
แต่ไม่เป็นไร ก็คิดกันได้ ความคิดของใครของมัน
เรื่องของความเห็นต่างทางการเมืองนี้ เป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่ผมโอเค ใครจะเห็นอย่างไรก็ได้ ก็ต้องเคารพกัน ให้พื้นที่กันและกันแสดงได้
แต่ที่ผมไม่โอเคในบทวิเคราะห์ของสมคิดนั้นคือ นิยามคำว่า “ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม” ที่สมคิดใช้ ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นเรื่องมุมมองทางสังคมที่มากไปกว่าการเมืองแล้ว
ผมยืนยันว่าเราต้องยอมให้มีความเห็นที่แตกต่างทางการเมืองได้ แต่เราต้องไม่ยอมให้มีการให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่ากัน จากสถานะทางสังคมที่ไม่เท่ากัน
“ ผมไม่เห็นความชอบธรรมที่นายสมชาย จะอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะขณะนี้ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม ทั้งราษฎรอาวุโส ทหาร แพทย์ พยาบาล ยกเว้นคนในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ต้องการให้รัฐบาลอยู่ในอำนาจอีกแล้ว
…
การไม่ลาออก และไม่ยุบสภา ทำให้รัฐบาลเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทหารจะต้องทำมากกว่านี้ เพราะถ้าไม่ทำต่อก็จะเสียชื่อ จะเสียหายกว่าเดิม ผมกลัวว่าทหารจะรัฐประหารโดยอาจจะไม่ใช่การใช้กำลังทหาร แต่เป็นการบีบให้นายกรัฐมนตรีลาออก แล้วตั้งรัฐบาลกลางขึ้นมา เหมือนในยุครัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งต้องงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เป็นสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ซึ่งถ้านายสมชายยังต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตย รักษาประเทศ รักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ ควรจะลาออกหรือยุบสภาโดยเร็ว ”
— สมคิด เลิศไพฑูรย์, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิเคราะห์ภาพรวมทางการเมืองหลังจากท่าทีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ประกาศไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ตามข้อเรียกร้องของผู้นำเหล่าทัพ
กรุงเทพธุรกิจ 19 ต.ค. 2551, น.2
สังคมอาจารย์แคบดีนะครับ – ราษฎรอาวุโส ทหาร แพทย์ พยาบาล
ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ครับ พี่สาวผมเป็นวิศวกร น้องผมออกแบบกราฟิก น้องอีกคนเป็นนักเรียน พ่อแม่ผมเปิดร้านขายของ ลูกจ้างที่บ้านก็กรรมกรใช้แรงงาน แถวบ้านมีคนขับรถบรรทุกรับจ้าง แม่ค้าขายข้าวแกง ร้านชำ ฯลฯ อาจารย์เอาคนเหล่านี้ไปอยู่ไหนครับ
สมชายจะไปไหน จะให้รัฐบาลอยู่หรือไม่ให้รัฐบาลอยู่ จะมาจากไหน ถ้ามาจากการเลือกตั้งโดยไม่ใช่มาจากการรัฐประหารอย่างที่อาจารย์อยากเห็น ผมก็ยินดีเช่นกัน .. จะเอาอะไรก็เอาเถอะครับ — แต่ขอร้องว่าอย่านิยาม “ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม” ด้วยกลุ่มอาชีพฐานันดรเหล่านั้นเลย
หรือเชื่อกันจริง ๆ ว่า เสียงแต่ละเสียงนั้นไม่เท่ากัน ?
แล้วจะพันธมิตรประชาชนเพื่ออะไรกันครับ ?
technorati tags:
majority,
democracy,
aristocracy,
definition
Thailand,
politics
One response to “special status instantly makes you a majority in Thailand”
เพื่อ ปชป. ไง ถามได้