กลับมาสู่เรื่องการเมืองอีกครั้งด้วยคำถามว่า “คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า คุณไม่เชื่อในสังคมนิยมที่ปราศจากประชาธิปไตย และในทางกลับกัน คุณก็ไม่เชื่อในประชาธิปไตยที่ปราศจากสังคมนิยม คุณลองขยายความให้จะแจ้งหน่อยเป็นไร” ถึงตอนนี้ นักอ่านบางคนทำหน้าเบ้
“ใช่” เขาตอบรับนำมาก่อน
“ถ้าคุณมีประชาธิปไตยตามมาตรฐานของโลกตะวันตก ที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในสื่อสารมวลชน แต่ไม่มีเสรีภาพทางสังคมไปพร้อมๆ กัน อย่างนี้ ก็มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถใช้เสรีภาพแบบนี้ได้อย่างเต็มที่ ภายใต้ป้ายประกาศว่าเป็นประชาธิปไตย ก็เพียงปัญญาชนที่ได้รับการศึกษาสูงเท่านั้น จึงจะสนใจกับเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ หรืออื่น ๆ ถ้าคุณไม่ใช่คนได้รับการศึกษา คุณก็ย่อมจะพะวงกับปัญหาอื่นอีกมากมาย เกินกว่าจะมีเวลามาสนใจกับการเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ ใช่ไหม ผมว่ามันควรต้องมีความสมดุลย์ทางสังคมด้วย และให้ประชาชนมีโอกาสใช้สิทธิประชาธิปไตยของเขาโดยเท่าเทียมกันด้วย
อีกด้านหนึ่งในสังคมคอมมิวนิสต์ ทุกคนมีงานทำ ราคาสินค้าไม่ถีบตัวสูงพรวดพราดตามที่ประชาชนต้องการ ทุกสิ่งทุกอย่างก็รวมศูนย์ นี่เป็นเพียงบางส่วนในชีวิตของคนเราเท่านั้น แต่ผู้คนก็จะถามขึ้นในบางครั้งว่า สังคมต้องมีทางเลือก มีฝ่ายค้าน ใช่หรือไม่ รัฐบาลส่วนมากมักจะคิดว่ามีหนทางเดียวเท่านั้นในการปกครองที่ได้ผล และน่าจะดีถ้ามีให้เลือกสักสองหนทาง แต่ผมว่าหนทางที่สามมันมีอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอภิปรายกันยืดยาวมาก และด้วยเหตุนี้เอง ผมจึงกล่าวว่า เราต้องการฝาแฝดประชาธิปไตย-สังคมนิยม”“คุณว่าอุดมการแบบนี้เป็นไปได้หรือ” เป็นคำถามเชิงท้าทาย
“แน่ละซี” เขาตอบหนักแน่น “มีแล้วในประเทศสแกนดิเนเวียบางประเทศ ในเยอรมันเราได้เริ่มต้นกันมาบ้างแล้วผมว่ามันจำเป็นก่อนที่พี่เบิ้มทั้งสองจะเข้ามา คือพี่เบิ้มอเมริกันซึ่งเป็นทุนนิยมสมัยเก่า และมอสโคว์ซึ่งเป็นทุนนิยมโดยรัฐ ทั้งสองยักษ์ใหญ่ที่ใกล้ชิดกันทีเดียว แล้วก็ต่อต้านประชาธิปไตยสังคมนิยมเหมือนๆ กันเสียด้วย เพราะประชาธิปไตยสังคมนิยมจะไม่เฝ้าถามว่าใครเป็นเจ้าของสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่จะถามว่าใครควบคุมมันต่างหาก ผมคิดว่าเราได้เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลง เราได้เห็นประเทศคอมมิวนิสต์รุ่นแรก ๆ แปรสภาพจากทุนนิยมผูกขาดโดยเอกชน ไปเป็นทุนนิยมผูกขาดโดยรัฐ ซึ่งมิได้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราต้องการมาให้ เพราะการผูกขาดโดยรัฐนั้นยิ่งควบคุมยากกว่าเอกชนหลายเท่านัก”
คัดมาจากบางส่วนของ ‘งานวรรณกรรมล้วนมีความลึกซึ้งกว่านโยบายการเมือง..’ พบ กุนเตอร์ กราสส์ ที่กรุงเทพฯ เรื่องจากปก โดย โลกหนังสือ ไม่ทราบฉบับ/ปีที่พิมพ์ (แต่น่าจะเก่าอยู่ เพราะยังเป็นสมัยเยอรมนีสองฝั่งอยู่เลย)
– สำเนาเอกสาร หยิบฟรีมาจากบูท Frankfurter Buchmesse ที่งานหนังสือครั้งล่าสุด – เมษา 50
กึนเธอร์ กราส (Günter Grass) เป็นนักเขียนรางวัลโนเบล ค.ศ. 2000 ชาวเยอรมัน
เป็นผู้สนับสนุนพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเยอรมนี (SPD) อย่างแข็งขันและเปิดเผย
(สังคมนิยมประชาธิปไตย – social democracy)
technorati tags:
social democracy