คนทำงานด่านหน้า-งานจำเป็น ที่จะได้รับวัคซีนลำดับต้นๆ มีใครบ้าง


ลองไล่ๆ ดูในเว็บไซต์หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนโยบายวัคซีนของประเทศต่างๆ ว่าใครคือ “คนทำงานด่านหน้า” (front-line workers) หรือ “คนทำงานสำคัญและจำเป็น” (essential workers) ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพบ้าง (กลุ่มสุขภาพเป็นกลุ่มที่เรานึกถึงและได้ยินกันบ่อยๆ อยู่แล้ว) และใครคือกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนลำดับต้นๆ ในวิธีคิดของประเทศนั้นๆ

รวมๆ แล้ว ถ้าเราลองพิจารณาการปฏิบัติงานของคนในอาชีพจำพวก พนักงานคิดเงิน พนักงานส่งของ เจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจสายตรวจ พนักงานไปรษณีย์ ครูโรงเรียนเด็กเล็ก ผู้คุมเรือนจำ คนเหล่าทำหน้าที่จำเป็น เจอคนเยอะทุกวัน หลีกเลี่ยงสัมผัสลำบาก หรือเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังกลุ่มเปราะบาง

เช่นเด็กเล็กที่ไปโรงเรียนจะเชื่อมหลายครอบครัวเข้าหากัน และเด็กเล็กมีโอกาสสัมผัสกับคนแก่ที่บ้าน หรือผู้คุมเรือนจำที่ไปมาระหว่างภายนอก-ภายในเรือนจำ ซึ่งเรือนจำไทยนี่ก็แออัดมากๆ ไง การป้องกันตัวเองทำไม่ได้อยู่แล้ว

คนเหล่านี้นี่คือคนทำงานที่ด่านหน้า ที่นอกเหนือไปจากคนทำงานด่านหน้าด้านสุขภาพ และควรได้วัคซีนเป็นลำดับต้นๆ ด้วย เนื่องจากมีความเสี่ยงมาก (เป็นไปได้ด้วยว่าจะเสี่ยงกว่าคนที่ทำงานในโรงพยาบาลบางหน้าที่หรือบางพื้นที่ที่ไม่ได้พบเจอคนมากนัก) หรือหากเป็นอะไรไปจะกระทบกับหน้าที่งานที่จำเป็นสำหรับสังคม ซึ่งแต่ละประเทศ/เขตระบบสุขภาพก็ใช้เกณฑ์พิจารณาต่างๆ กันไป

กรมควบคุมโรคสหรัฐ (CDC) ใช้เกณฑ์ ACIP Categories of Essential Workers ซึ่งแบ่งเป็น (1a) Essential Healthcare Workers (คนทำงานที่จำเป็นด้านสุขภาพ ระบุชัดว่าทั้งที่ได้รับค่าจ้างและไม่ได้รับค่าจ้าง) (1b) Frontline essential workers (Non-Healthcare) (คนทำงานที่จำเป็นที่อยู่ด่านหน้า ที่ไม่ใช่สายสุขภาพ ซึ่งทำงานในสภาพแวดล้อมที่ต้องอยู่ใกล้ชิดเพื่อนร่วมงานหรือคนทั่วไป เลี่ยงไม่ได้) และ (1c) Other essential workers (อื่นๆ ตามกำหนด)

รัฐบริติชโคลัมเบียในแคนาดา กำหนด Front-line priority workers มาตามภาพ มีทั้งครูโรงเรียนเด็กเล็ก คนดูแลเด็ก พนักงานไปรษณีย์ พนักงานร้านชำ คนทำงานในภาคการผลิต คนทำงานเรือนจำ คนทำงานขนส่งข้ามแดน ฯลฯ

ส่วนไอร์แลนด์จะเน้นที่คนทำงานด่านหน้าด้านสุขภาพเป็นหลัก และมีเพิ่มเติมคือ “key workers essential to the vaccine programme” คนทำงานที่สนับสนุนการจัดหาและกระจายวัคซีน และการฉีดจะเน้นกลุ่มเปราะบาง คนป่วย (มีการกำหนดชื่อโรคและเงื่อนไขของอาการอย่างชัดเจน) และผู้สูงอายุ ก่อนกลุ่มอื่น และหลังจากที่กลุ่มจำเป็นอื่นๆ ได้รับวัคซีนกันไปแล้ว ลำดับที่เหลือจะมีลักษณะไล่ตามกลุ่มอายุ

โดยในแต่ละกลุ่ม ก็จะมีการอธิบายเหตุผล (Rationale) และแจ้งถึงหลักการทางจริยศาสตร์ (Ethical Principles) ที่ใช้พิจารณาด้วย ว่าทำไมแบ่งแบบนี้และมาอยู่ที่ลำดับนี้

กลุ่มบางกลุ่มอาจจะไม่ได้อยู่ด่านหน้าในแง่การปฏิบัติงานอำนวยความสะดวกกับคนทั่วไปแบบเห็นชัดๆ แต่ก็เป็นกลุ่มที่ทำงานเบื้องหลัง อยู่ในอุตสาหกรรมที่สำคัญ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานหรือที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยง

ต้นเดือนมีนา 2564 ตอนที่สิงคโปร์ประกาศขยายกลุ่มที่ได้รับวัคซีน ก็ระบุถึงกลุ่มอย่างคนทำงานที่เสี่ยงสัมผัสสูงหรือมีโอกาสส่งต่อได้มาก “Essential workers with higher risk of exposure and onward transmission” ซึ่งรวมครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนเด็กเล็กด้วย โดยระบุว่าเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก การฉีดคนอื่นในโรงเรียนจึงเป็นวิธีป้องกันเด็กที่ทำได้ในตอนนี้

นอกจากนี้ก็มีกลุ่มคนงานข้ามชาติ “Migrant workers living in dormitories” เนื่องจากคนงานข้ามชาติเหล่านี้อาศัยอยู่ในหอพักขนาดใหญ่ที่มีคนมาก (ประกาศของรัฐบาลไม่มีคำว่า “แออัด” แต่ก็นั่นแหละ เข้าใจกันได้ ว่ามันเสี่ยงเพราะคนอยู่เยอะด้วย)

สำหรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในสิงคโปร์ก็น่าสนใจ Grab ประกาศตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนพนักงาน พนักงานส่งของ พนักงานขับรถทั้งหมด ภายในสิ้นปีหน้า (2565) ในทุกประเทศที่ไปทำธุรกิจ (แปลว่ารวมประเทศไทยด้วย) โดยจะช่วยค่าใช้จ่ายให้กรณีที่แผนงานวัคซีนของประเทศนั้นไม่ครอบคลุม (ข่าวไม่ได้บอกว่าจะอุดหนุนยังไงเท่าไร)

ดูของหลายๆ ที่แล้ว แล้วก็น่าจะเป็นการประเมิน/จัดลำดับตาม โอกาสเกิด และ ความเสียหายที่จะเกิด เช่น

  • โอกาสสัมผัส (ลักษณะการทำงาน ระยะห่าง ความสามารถในการป้องกัน)
  • โอกาสกระจายต่อ (จำนวนคนในเครือข่าย ลักษณะเครือข่าย)
  • โอกาสเสียชีวิต (คนป่วย คนแก่ คนที่อยู่ห่างไกลการเข้าถึงการรักษา)
  • ความเสียหายต่อระบบสุขภาพ/ระบบการกระจายวัคซีน
  • ความเสียหายหากไม่มีคนทำงานนี้ (ความสำคัญของงาน จำนวนคนที่ทำงานนี้ได้ ความขาดแคลนหรือเวลาที่ต้องใช้ในการฝึกเพื่อทดแทน)

เกณฑ์เหล่านี้แต่ละประเทศก็จัดระดับความสำคัญต่างกันไป ส่วนหนึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับลักษณะทางประชากรและลักษณะความสัมพันธ์ของคนในสังคมด้วย ว่ามีการพบปะพบเจอกันยังไง พึ่งพาอาชีพไหนมาก ลักษณะการผลิต-การไหลเวียนของสินค้าบริการเป็นยังไง จุดเปราะบางต่อความมั่นคงอยู่ตรงไหน ดังนั้นมันเลยไม่ได้เหมือนกันเป๊ะๆ แต่อย่างน้อยการมีเกณฑ์ให้พิจารณาเป็นหลักเป็นการบ้างก็น่าจะดี

ของไทยเองก็มีสิ่งที่คล้ายๆ เกณฑ์อยู่ โดยอิงกับช่วงการฉีด 3 ระยะ (ซึ่งแบ่งช่วงตามปริมาณวัคซีนที่มี) แล้วก็ระบุกลุ่มที่จะได้รับวัคซีนในช่วงนั้นๆ ไว้กว้างๆ เช่น “ผู้ประกอบอาชีพที่มีโอกาสสัมผัสกับคนจำนวนมาก” แต่ไม่ได้มีรายละเอียดว่ามีอาชีพอะไรบ้าง (ข้อมูล 27 ม.ค. 2564)

ชอบที่ในเว็บไซต์ทางการของหลายประเทศ นอกจากจะแจ้งว่าลำดับการได้รับวัคซีนมีอะไรบ้าง ใครก่อนใครหลัง ยังพยายามอธิบายเหตุผล ที่มาที่ไปของการตัดสินใจ

ซึ่งพอประกาศล่วงหน้าให้ชัดเจนแบบนี้ นอกจากจะเป็นการสัญญากับสาธารณะ และทำให้คนลดกังวล ลดความสงสัยได้แล้ว เมื่อถึงเวลาดำเนินนโยบาย ก็จะสามารถถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้นด้วย ว่าได้ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้หรือไม่

เผยแพร่ครั้งแรก 9 เมษายน 2564 บนเฟซบุ๊ก

,

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.