Sunset Provision – กำหนดวันหมดอายุให้กฎหมาย

อาทิตย์อัสดง

เมื่อวันพฤหัสที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ระหว่างเสวนา “การเมืองบนใยแก้ว” #‎คิดนะแต่ไม่แสดงออก‬ ที่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัด มีหัวข้อหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาคุย คือการสอดส่องโดยรัฐ ก็เลยคุยกันต่อถึง USA Patriot Act (แน่นอนว่าเป็นชื่อย่อ ชื่อเต็มคือ Uniting and Strengthening America by Providing Appropriate Tools Required to Intercept and Obstruct Terrorism Act – กูยอมใจ)

เลยได้มีโอกาสพูดถึงการรีวิว การต่ออายุ การต่ออายุอีกครั้งซึ่งที่ไม่สำเร็จ และการหมดอายุลงของบางมาตราใน Patriot Act เนื่องจากพบหลักฐานเชิงประจักษ์ในระหว่างที่กฎหมายบังคับใช้ว่ามันไม่ได้ทำงานได้อย่างที่มันอ้าง นอกจากนี้ในทางปฏิบัติยังนำไปสู่การละเมิดสิทธิหลายกรณี

การหมดอายุลงของบางมาตราในกฎหมายเช่นนี้ เป็นแนวคิดที่เรียกว่า “Sunset” (อาทิตย์อัสดง) ซึ่งเหตุผลในการกำหนดให้กฎหมายหมดอายุลงก็มีหลายเหตุผล บางเหตุผลก็เป็นเรื่องไม่ดีซะเท่าไหร่ เช่นกำหนดให้กฎหมายที่รัฐบาลนี้ออกหมดอายุลงเมื่อหมดอายุรัฐบาล เพื่อไม่ให้รัฐบาลหน้าเอากฎหมายเดียวกันกลับมาเล่นงานรัฐบาลเก่าได้

แต่ในกรณีอื่น มันก็มีเหตุผลที่ดีอยู่ เช่น การออกกฎหมายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สังคมมีแนวโน้มจะตื่นตระหนก panic กับสิ่งรอบตัว คนออกกฎหมายก็อาจจะใส่ sunset provision เข้าไป บอกว่าให้กฎหมายนี้เป็น “มาตรการชั่วคราว” นะ เช่น มีอายุ 5 ปีนะ พอจะครบ 5 ปี ถ้าเห็นว่ากฎหมายนี้ยังโอเคอยู่ ก็ให้ทำการต่ออายุมันซะ แต่ถ้าไม่ก็ปล่อยมันหมดอายุไป ตกลับขอบฟ้าไป เมื่อทำแบบนี้ ก็จะเป็นการบังคับให้ในอนาคตถ้ายังต้องการจะใช้กฎหมายต่อ ก็จะต้องมีการรีวิวทบทวนกฎหมายนั้นๆ ในสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ในภาวะที่คนหายตกใจกันแล้ว และด้วยข้อมูลเชิงประจักษณ์จากการใช้กฎหมายจริงในช่วงที่ผ่านมา (ซึ่งในสมัยออกกฎหมายตอนแรก ยังไม่มีข้อมูลแบบนี้)

Sunset provision ยังเป็นเหมือนการประนีประนอมด้วย ในข้อกฎหมายที่มีแนวโน้มจะละเมิดสิทธิพลเมืองสูง ที่ในภาวะปกติคงจะผ่านเป็นกฎหมายลำบาก แต่ในภาวะพิเศษ ผู้แทนในสภาฝั่งสิทธิพลเมืองก็คงจะไปทัดทานอะไรต้านกระแสสังคมไม่ได้นัก การยอมให้มีกฎหมายที่อาจละเมิดสิทธิแต่จำเป็นต้องใส่ sunset provision ก็เลยเหมือนเป็นการยอมถอย แต่ใส่เงื่อนไขไว้ว่า จะไม่ถอยตลอดไปนะ ถอยแค่เวลาจำกัดเท่านั้น

Sunset Provision ใน USA Patriot Act

กรณีของ Patriot Act มาตราที่เป็น Sunset provision คือมาตราที่เกี่ยวข้องกับการดักฟังและดักรับข้อมูล ซึ่งกฎหมายในตอนแรกกำหนดให้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2005 หลังจากนั้นก็มีการต่ออายุมาเรื่อยๆ รวมถึงออกกฎหมายให้บางมาตราที่เดิมเป็น Sunset provision หรือ “มาตราชั่วคราว” ให้กลายเป็น “มาตราถาวร” – ดู https://en.wikipedia.org/wiki/Sunset_provision#USA_PATRIOT_Act และ https://en.wikipedia.org/wiki/Patriot_Act#Reauthorizations

ส่วนตัวเลขงานวิจัยที่อ้างระหว่างการเสวนา ที่ว่าการดักฟัง-ดักรับข้อมูลแบบเหมารวมทีละเยอะๆ (bulk) ป้องกันการก่อการร้ายได้จริงๆ หรือ เอามาจากงานของ New American Foundation ซึ่งระบุว่า การใช้อำนาจตาม Section 215 ของ Patriot Act เพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการโทร (เบอร์ไหนโทรหาเบอร์ไหน เมื่อไหร่ ใช้เวลาแค่ไหน แต่ไม่มีเนื้อหาการคุย) นำไปสู่การเริ่มต้นการต่อต้านการก่อการร้ายที่สำเร็จเพียงอย่างมาก 1.8% ส่วนการใช้อำนาจสอดส่องคนที่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐตาม Section 702 ของกฎหมาย FISA นำไปสู่การสืบทราบเพียง 4.4% ในขณะที่โดยเปรียบเทียบแล้ว ในเคสที่ประสบความสำเร็จ มีการใช้อำนาจของ NSA ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Section 215 หรือ 702 – อันหมายถึงการสืบหาข่าวด้วยวิธีการข่าวกรองแบบดั้งเดิม – อยู่ 21%

ซึ่งตีความได้ว่า ใช่การดักฟังการสื่อสารอาจจะช่วยต่อต้านการก่อการร้ายอยู่นิดหน่อย แต่มันมีวิธีอื่นที่ได้ผลกว่า-และละเมิดสิทธิบุคคลทั่วไปน้อยกว่า

ผลการศึกษาโดย New American Foundation ดังกล่าวมีชื่อว่า Do NSA’s Bulk Surveillance Programs Stop Terrorists? – เอกสารนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาและข้อเสนอแนะจากหลายที่ ที่ถูกส่งให้คณะกรรมการรีวิวกฎหมาย Patriot Act รอบล่าสุด ที่สุดท้ายสภาคองเกรสตัดสินใจไม่ต่ออายุมาตราพวกนั้นใน Patriot Act (ไม่ได้แปลว่าทั้ง Patriot Act หมดอายุนะครับ เฉพาะบางมาตราเท่านั้น) แล้วออกกฎหมาย USA Freedom Act มาใช้แทน (ย่อมาจาก Uniting and Strengthening America by Fulfilling Rights and Ending Eavesdropping, Dragnet-collection and Online Monitoring Act – มึงเก่งมาก) ซึ่งยังอนุญาตให้หน่วยงานความมั่นคงสามารถเข้าถึงข้อมูลของบุคคลได้ แต่ต้องให้ศาลกลางอนุญาตก่อน

ผลการศึกษาอีกชิ้นที่พูดถึงในวันงานคือ Surveillance Costs: The NSA’s Impact on the Economy, Internet Freedom & Cybersecurity ซึ่งพูดถึงราคาที่สังคมต้องจ่ายจากโครงการข่าวกรองของ NSA

—-
ภาพประกอบ “sunset” โดย Matthias Bachmann – สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน


One response to “Sunset Provision – กำหนดวันหมดอายุให้กฎหมาย”

  1. […] เมื่อมีทางเลือกที่เป็นได้หลายทาง สำหรับการสร้างชิ้นส่วนหรือความสามารถของแอป ทางเลือกที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวได้มากที่สุดจะต้องถูกเลือก การเบี่ยงเบนไปจากหลักการนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องบรรลุวัตถุประสงค์ของแอปให้ได้มีประสิทธิผลมากขึ้น และการเลือกทางเลือกดังกล่าวจะต้องถูกอธิบายแสดงเหตุผลอันสมควรได้อย่างชัดเจน โดยมีข้อกฎหมายที่จะกำหนดวันสิ้นสุดหรือวันหมดอายุของทางเลือกดังกล่าว (sunset provisions) […]

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.