ประวัติกฎหมายลงทะเบียนซิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ (2548 – ยุคก่อนประกาศกสทช.)

Micro SIM card

Micro SIM card

ความรู้ใหม่ มีกฎหมาย “พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495” และมีทางจะเอามาใช้ในเรื่องข้อมูลข่าวสารแบบนี้ได้ด้วย

ค้นเร็วๆ เรื่องการลงทะเบียนซิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ก่อนยุคกสทช.บังคับลงทะเบียนทั้งประเทศ) ได้ข้อมูลดังนี้

เมื่อปี 2548 ตอนที่รัฐบาลทักษิณเสนอจะให้มีการลงทะเบียนซิมการ์ดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง (ป้องกันการจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ) มีข้อเสนอมาตรการหลายแบบอยู่ โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งแต่กฎหมายก็ดูแลโดยกระทรวงต่างกัน

เม.ย. 2548

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมจัดระเบียบซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินเพื่อป้องกันการนำไปใช้เป็นตัวก่อเหตุจุดฉนวนระเบิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ข้อสรุปว่า

1) ขอความร่วมมือจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ในการออกกฎหมายควบคุม

หาก กทช.เห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะใช้แนวทางที่สอง คือ

2) ใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 ของกระทรวงพาณิชย์ ที่กำหนดให้รัฐสามารถควบคุมโภคภัณฑ์เพื่อสวัสดิภาพของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ

ตอนนั้นตัวแทนหน่วยงานความมั่นคงและการข่าวที่ร่วมประชุมมีอาทิ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ปรุง บุญผดุง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และพล.ต.ท.จุมพล มั่นหมาย ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการดักฟัง พล.ต.อ.ชิดชัย ตอบว่า การจัดระเบียบซิมไม่ใช่ทำเพื่อดักฟัง จะดักฟังได้ต้องใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กฎหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงกฎหมายยาเสพติด

ต่อมาได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปดำเนินการ

พ.ย. 2548

กระทรวงไอซีที ออกประกาศกระทรวงฯ เรื่องการลงทะเบียนบัตรประจำตัวของผู้ใช้บริการ (ซิมการ์ด) โดยใช้อำนาจตาม มาตรา 11 ของพ.ร.ก.กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 6

มาตรา 11 ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อมีปรกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
[…]
(6) ประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน

ส.ค. 2549

มติคณะรัฐมนตรี 2 ส.ค. 2549

  • กระทรวงไอซีทีขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ลงทะเบียน ณ จุดขาย ผู้ที่ไม่ได้แสดงตนในวันที่กำหนดจะถูกระงับสัญญาณ
  • ภายใต้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (มาตรา 11) ได้ประกาศให้การซื้อขายซิมต้องมีการระบุหลักฐานแสดงตนตามประกาศกระทรวงไอซีที
  • กระทรวงไอซีทีแจ้งผู้ประกอบการทุกรายให้เข้มงวดในการตรวจสอบหลักฐานการแสดงตนของผู้ใช้บริการ
  • ประสานงานกับประเทศมาเลเซีย ที่จะให้มีข้อตกลงร่วมกันในการลดกำลังส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามชายแดน ขอความร่วมมือ กอ.สสส.จชต. ให้กำหนดพื้นที่เสี่ยงต่อการจุดชนวนระเบิดตามแนวชายแดนด้วยซิมที่ใช้สัญญาณจากมาเลเซีย
  • ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อควบคุมการซื้อขายซิม ขอความร่วมมือผู้ประกอบการรายย่อยตรวจสอบหลักฐานและมีแบบฟอร์มบันทึกข้อมูลของผู้ซื้อทุกราย
  • กระทรวงไอซีทีรายงานต่อที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคง ณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ได้ผลไหม?

ส่วนความได้ผลของมาตรการนั้น เรียกว่าได้ผลอยู่ เพราะผู้ก่อการเลิกใช้โทรศัพท์มือถือจุดระเบิด หันไปใช้วิทยุสื่อสารจุดระเบิดแทน (ข้อมูลจากการพูดคุยกับคนในพื้นที่ ช่วงปี 2552-2554)

 

ภาพประกอบ: Micro SIM card โดย Tsahi Levent-Levi. สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แบบแสดงที่มา 2.0


One response to “ประวัติกฎหมายลงทะเบียนซิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ (2548 – ยุคก่อนประกาศกสทช.)”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.