ไหลข้ามพรมแดน ทั้งคน ข้อมูล ทุน สินค้า และความน่าปวดหัว


Freedom of Movement.

(จากข่าว “ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเร่งปราบการเลี่ยงภาษีโดยบริษัทไอทีจากสหรัฐ”)

ผมว่าปัญหาเลี่ยงภาษีโดยอาศัยความแตกต่างทางกฎหมายในแต่ละประเทศ/รัฐ/เขตเศรษฐกิจ นี่ก็เป็นตัวอย่างนึงของความ “เอาไม่อยู่” อีกต่อไปแล้วของขอบเขตกฎหมายที่อยู่บนฐานรัฐชาติ

องค์กรและกิจกรรมหลายอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ มันทำงานระดับข้ามรัฐข้ามพรมแดน แล้วกฎพวกนั้นก็ตามไม่ทัน ซึ่งเปิดช่องให้คนสร้างปัญหา และในทางกลับกัน ไอ้ตัวกฎหมายก็สร้างปัญหาซะเองได้ด้วย

แม้อุปลักษณ์ “เครือข่าย” จะเป็นอุปลักษณ์ยอดนิยม ที่ถูกใช้ในการเข้าใจและอธิบายแนวคิดและสิ่งต่างๆ ในยุค “อินเทอร์เน็ต” นี้ — แต่กรณีนี้ อุปลักษณ์ “ของไหล” อาจจะเหมาะกว่า

เราลองคิดว่า คน ข้อมูล ทุน และสินค้า ก็เหมือนกับน้ำ

ถ้ามีรู น้ำก็ไหล ถ้ามีแรงดัน น้ำก็ไหล
ถ้าระดับสองที่ไม่เท่ากัน น้ำก็ไหลจากสูงไปต่ำ
น้ำไหลไปทุกที่ เจอกำแพงก็ไหลไปตามแนวกำแพง จนไปสุดกำแพงแล้วไหลต่อ
น้ำมามากๆ พังกำแพงได้อีก

คนไหล เงินไหล สินค้าไหล ข้อมูลไหล
ปัญหาปวดหัวระหว่างประเทศมักจะวนๆ กับเรื่องพวกนี้
ผู้อพยพ แรงงานต่างชาติ การเข้าออกของทุน กำแพงภาษี การคุมข้อมูล

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ก็เน้นเรื่องการไหลพวกนี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมมันมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลไหลเร็วก็ตัดสินใจเร็ว ในสมัยที่ เจงกีส ข่าน ขยายจักรวรรดิมองโกล หนึ่งในกลไกสำคัญในการบริหารดินแดนกว้างใหญ่อย่างนั้นก็คือ ระบบจดหมายม้าเร็ว

หรือไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง รางรถไฟ ก็เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ว่าด้วยการไหลทั้งนั้น

จึงเห็นได้ว่าโดยพื้นฐานแล้ว รัฐบาลประเทศต่างๆ ก็อยากให้ของมันไหลแหละ แต่เขาต้องเป็นคนควบคุมการไหล/ต้องไหลในระดับที่เขาคุมได้

การเจรจาหรือมาตรการระหว่างประเทศอื่นๆ จำนวนหนึ่งก็มาจากความคาดหวังในระดับของการไหลที่ไม่ตรงกันของสองพื้นที่

แต่ในขณะที่กิจกรรมระดับรัฐบาลที่เป็นทางการดำเนินไป ถ้ามันมีรู หรือระดับของสองพื้นที่มันสูงต่ำกันมาก หรืออีกฝั่งมีแรงดันมาก ยังไงของมันก็ไหล อาจจะไม่ถูกกฎหมาย แต่ของไหลมันหาทางของมันเสมอ

กฎหมายและความคุ้มครองต่างๆ ก็ต้องไปให้ทันกับสิ่งเหล่านี้ด้วย จะคิดในกรอบเก่าๆ ไม่ได้แล้ว ไม่งั้นไหลตามกันไม่ทัน


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.