การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ ถูกระงับเป็นการชั่วคราว


อ่านบล็อก @lewcpe เกี่ยวกะพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก็มีประเด็นน่าสนใจอันหนึ่ง คือข้อเสนอที่ว่า :

4. คำสั่งปิดกั้นจะมีได้ต่อเมื่อมีการดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นคดีที่อยู่ภายใต้พรบ. คอม หรือไม่ คำสั่งต้องมีวันหมดอายุชัดเจน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ @jittat ก็เคยตั้งข้อสังเกตไว้เหมือนกัน เพราะที่ผ่านมามีแต่คำสั่งบล็อคเว็บ แต่คำสั่งยกเลิกการบล็อคนั้นยังไม่เคยเห็น (หมายถึงตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, กรณีการบล็อคตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อพ้นภาวะฉุกเฉิน ก็มีการสั่งปลดบล็อคไปตามพ.ร.ก.)

ถ้าดูภาษาที่ใช้ในหน้าเว็บที่ถูกเปลี่ยนทางไป เช่นที่ http://58.97.5.29/ict.html :

การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ ถูกระงับเป็นการชั่วคราว โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารเสนเทศและการสื่อสาร

The Ministry of Information and Communication Technology has temporarily ceased the service to access such kind of information.

ก็จะเห็นว่ามีการใช้คำว่า “ชั่วคราว”

ทีนี้ ถ้าเกิดว่าคำสั่งของศาล ไม่ได้ระบุว่า การระงับนี้จะกินเวลาเท่าใด หรือสิ้นสุดลงเมื่อใด จะเรียกว่า “ชั่วคราว” อย่างที่เรียกอยู่ตอนนี้ได้ไหม ?

ถ้าเราเทียบการระงับการเข้าถึงชั่วคราว กับการ “ควบคุมตัว”/”ฝากขัง” จะได้ไหม ?

คือในระหว่างนั้น ผู้ที่ถูกขัง ยังเป็นเพียงผู้ต้องหา ยังไม่มีการตัดสินความผิด แต่อาจจะมีความจำเป็นในทางรูปคดี การสอบสวนอะไรก็ว่าไป เป็นเหตุผลที่ต้องขอควบคุมตัวเอาไว้ในความดูแลของเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ตาม การจะขอควบคุมตัว ก็ต้องขออนุญาตศาล และมีเวลากำหนดเอาไว้ จำกัดว่าได้กี่วัน ถ้าจะเกินก็ต้องขอต่อ เป็นคราว ๆ ไป เท่าที่จำเป็น

โดยในระหว่างนั้นกระบวนการยุติธรรมก็ต้องดำเนินไป ถ้าพิสูจนได้ว่าผิดจริง ก็เอาผิดลงโทษคนทำเว็บหรือสั่งปิดเว็บไซต์เป็นการถาวร แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็ต้อง “ปล่อยตัว” หรือยกเลิกการระงับการเข้าถึง ให้เข้าได้ตามปกติ

และถ้าเป็นกรณีหลัง คือพบว่าจำเลยไม่ผิด ก็ต้องเปิดช่องตามกฎหมายไว้ด้วย ว่าจำเลยสามารถฟ้องร้องกลับ เพื่อเรียกค่าเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นทางชื่อเสียง หรือทางเศรษฐกิจ โดยถ้าโจทก์หรือผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ใช้ช่องทางตามศาลปกครองได้ ถ้าเป็นเอกชนก็น่าจะฟ้องทางแพ่งเรียกค่าชดใช้ได้ — เพราะถ้าปล่อยให้ฟ้องกัน(ชุ่ยๆ)ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ก็เท่ากับว่าสิ่งจูงใจ (incentive) ในการฟ้องนั้นมีมากกว่าการไม่ฟ้อง ทำให้สิ่งจูงใจสองด้านนั้นไม่สมดุลกัน

กลับมาที่ประเด็น “ชั่วคราว” เราจะเห็นว่า การขอควบคุมตัวชั่วคราวนั้น มีความชอบธรรม(ถ้าใช้เท่าที่จำเป็นและสมเหตุผล)ในแง่ที่ว่า มันมีเหตุผลเพื่อระงับความเสียหายหรือการละเมิดสิทธิกับผู้เกี่ยวข้องที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติม และเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมนั้นดำเนินไปได้โดยสะดวก

ทีนี้ ถ้าเกิดว่าการควบคุม/ระงับการเข้าถึง มันไม่ชั่วคราวเสียแล้ว อะไรคือความชอบธรรมในการทำอย่างนั้น ?

ไอเดียคือว่า การระงับการเข้าถึง หรือการควบคุมตัว จะต้องไม่ใช่การลงโทษในตัวของมันเอง เพราะในบางกรณีเรายังไม่รู้ว่าเนื้อหาที่แสดงในเว็บไซต์นั้นผิดหรือไม่ผิด ต้องรอศาลตัดสิน บางครั้งมันไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เราก็ต้องถือว่ามันเป็น “เว็บไซต์ต้องหา” ไว้ก่อน ยังเป็น “เว็บไซต์บริสุทธิ์”

และถ้าการระงับการเข้าถึงมันไม่ใช่การลงโทษในตัวมันเอง มันก็จำเป็นต้องมีสภาพชั่วคราว และทำไปเท่าที่จำเป็น ในดุลยพินิจของศาล

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ทั้งฉบับปัจจุบัน และร่างใหม่ที่กำลังจะถูกเสนอโดยกระทรวงไอซีที (คาดว่าสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม) ไม่ได้จัดการกับประเด็นนี้เลย เว็บไซต์ที่ “ถูกระงับชั่วคราว” ในทางปฏิบัติก็คือ “ถูกระงับถาวร” ถ้าอยู่ในรายการ block list แล้วก็ยากที่จะถูกถอนออกจากรายการ จนป่านนี้ที่บ้านผมก็ยังเข้าเว็บไซต์วีดิโอ www.vimeo.com ไม่ได้ (ทั้งเว็บไซต์เลยนะครับ ไม่ใช่แค่เฉพาะคลิป)

ผมชอบลักษณะที่ @lewcpe เขียนบล็อกเกี่ยวกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือบอกว่า อยากเห็นอะไร ไม่อยากเห็นอะไร อะไรรับได้ รับไม่ได้ ในกฎหมายอินเทอร์เน็ต

ใครมีความคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่เราอยากเห็น กฎหมายอินเทอร์เน็ตที่เราอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเซ็นเซอร์ ความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว ภาระของผู้ให้บริการ สิทธิของผู้ใช้บริการ ฯลฯ ลองเขียนบล็อกดูครับ เอาเป็นไอเดียสั้น ๆ สไตล์ลิ่วก็ได้ หรือถ้าถนัดพรรณนาก็เอา หรือใครจะวาดรูปก็สนุกดี เผื่อเราจะลองรวบรวมไอเดียของแต่ละคน มาเป็นข้อเสนออะไรร่วมกันครับ 🙂

หยุด ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.