ensogo peel-off-the-day


เนื่องจากไม่ค่อยได้เข้าออฟฟิศ และที่บ้านก็ไม่เหมาะกับการทำงานเป็นอย่างยิ่ง (ไม่นอน ก็ทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานตัวเอง) ผมเลยใช้บริการร้านกาแฟนั่งทำงานเป็นประจำ (ถ้าไม่ได้เข้ามหาลัยนะ)

จริง ๆ ชอบบรรยากาศของ TCDC นะ โต๊ะกว้าง ไฟสว่าง มีหนังสือให้อ่านด้วย แต่มันไกลจากบ้านไปหน่อย (สมัครสมาชิก 2 ปี ได้ไปใช้จริง ๆ สิบครั้งได้มั้ง)

ส่วนใหญ่ก็อยู่แถวสยามนี่แหละ ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้ร้านประจำอยู่ร้านนึง แถวลิโด้ มี wifi ฟรี มีปลั๊กไฟให้เสียบ สบายแฮ นั่งนานหน่อยก็ได้ มีนิตยสารไทยและญี่ปุ่นให้ดู ชอบมาร้านนี้ บรรยากาศมันสบาย ๆ น่ะ เหมือนนั่งอยู่บ้าน (หลังที่เท่าไหร่ก็ว่าไป)

วันนี้ก็มานั่งปั่นงาน หลังจากไปเลือกตั้ง (และซื้อรองเท้าคู่ใหม่ รับรัฐบาลใหม่ อิอิ)

กำลังเพลิน ๆ ก็มีเสียงให้สังเกตได้ว่า เจ้าของร้านกำลังปวดหัวกับลูกค้าสองราย ที่กำลังวีนเรื่องคูปอง ensogo*

*ตัวกลางธุรกิจ “ดีลประจำวัน” (deal-of-the-day) ยี่ห้อหนึ่ง. ในโมเดลธุรกิจแบบนี้ ลูกค้าจะซื้อคูปองสินค้า/บริการจากเว็บไซต์ในราคาลดพิเศษ เพื่อไปแลกสินค้า/บริการกับทางร้านค้า. ไอเดียคือทางบริษัทตัวกลาง (เช่น ensogo หรือ Groupon) จะทำดีลกับร้านค้าเพื่อซื้อสินค้า/บริการคราวละมาก ๆ ในราคาลดพิเศษ จากนั้นเอามาขายเป็นคูปองย่อย ๆ ให้กับลูกค้ารายคน ลูกค้าแต่ละคนก็จะเอาคูปองดังกล่าวไปแลกสินค้า/บริการ – พูดอีกอย่างคือ เป็นโบรกเกอร์ในการรวมพลังผู้ซื้อ

“ทำไมไม่ทอน 30 เค้กมัน 70 คูปองมัน 100 นะ” (ทั้ง ๆ ที่คูปองมันก็เขียนอยู่ ว่าไม่ทอน)

ฟังแล้วก็เห็นใจร้าน – -” เจอลูกค้าเท้าสะเอว ขึ้นเสียง ทำไมไม่งั้นไม่งี้ จะเอาคูปองรวมกัน จะโน่นจะนี่ “ร้านคุณมีเค้กชิ้นไหนราคาใกล้ 100 ที่สุด”

แล้วอยู่ดี ๆ บรรยากาศร้านก็มาคุขึ้นมาซะงั้นน่ะครับ

บ่นไปในทวิตเตอร์ @lewcpe ก็ตอบกลับมาว่า อืม นี่แหละเป็นสาเหตุที่ดีลแบบนี้มันหมดเสน่ห์ไปสำหรับผู้ประกอบการ ฟังแล้วก็น่าจะเป็นงั้นจริง ๆ นอกจากจะปวดหัวแล้วยังทำให้บรรยากาศร้านเสีย ลูกค้าคนอื่นก็อาจจะเซ็งไปด้วย

สำหรับร้านขนาดใหญ่ หรือเป็นเชนหลายสาขา ที่เจ้าของกิจการไม่ต้องสัมพันธ์กับลูกค้าผู้ใช้คูปองโดยตรง เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกตรงนี้ แต่ร้านเล็ก ๆ แบบนี้ ที่เจ้าของรันเอง มันก็น่าเห็นใจนะครับ ว่าจะได้คุ้มเสียไหม

เสียนี่ไม่ใช่แค่เรื่องเหนื่อย เรื่องปวดหัวนะครับ ทำธุรกิจยังไงมันก็ต้องเหนื่อยต้องมีเรื่องให้คิดให้จัดการน่ะ

แต่ยังรวมไปถึงเรื่องบรรยากาศร้านที่เสียไปด้วย (ซึ่งสำคัญนะ สำหรับร้านกาแฟแบบนี้) มันทำให้ควบคุมโทนร้านไม่ได้ (ทั้งจากลูกค้าที่วีน และจากตัวเจ้าของร้านเอง ที่พอหงุดหงิดมาก ๆ เข้า ก็อาจคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้) แบบนี้จะยังคุ้มไหม

แล้วก็เป็นไปตามคาด ตอนนี้เจ้าของร้านทั้ง 2 คน กำลังนั่งปรับทุกข์กัน ไม่ทำดีลใหม่แล้วนะ ถือว่าโง่ครั้งเดียวละกัน เราปวดหัว โดนด่าทั้งวัน แถมมีคนซื้อดีลชื่อเดียวกันได้เป็นสิบ (ตามกฎคือได้คนละไม่เกินห้า) แค่เติม s เติมอะไรไปท้ายชื่อ ก็ซื้อเพิ่มได้แล้ว ไม่เห็นทาง ensogo คุมเลย แจ้งไปหลายทีแล้ว ฯลฯ ปิดท้ายด้วยประโยค “ถ้าไม่ได้ทำให้มีกำไรเป็นสองเท่า ก็จะเลิกละ” … คือเขาก็อยากได้ลูกค้าเพิ่มแหละ แต่มันมี threshold ที่จะยอมแลกได้อยู่

อันนี้เป็นโจทย์ที่ธุรกิจคูปองส่วนลด คงต้องไปคิดต่อ ว่าจะทำยังไงให้ผู้ประกอบการก็ยังโอเคอยู่ด้วย จะตีหัวกินทีเดียว หลอกโง่กับหน้าใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ หรือจะทำธุรกิจกับร้านต่าง ๆ อย่างยาว ๆ

ถ้า brand loyalty มันขยับจาก brand ของร้าน ไปที่ brand ของธุรกิจคูปอง มันก็น่าสงสัยนะ ว่าโมเดลแบบนี้มันจะอยู่ไปได้นานแค่ไหน หรือว่าแบบนี้มันเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว คือ loyal กับราคาเป็นหลัก … แต่ถ้าเป็นแบบนั้น ก็จะมีร้านค้าจำนวนนึง ไม่เอาด้วยล่ะ โมเดลแบบนี้ เขาก็อยากจะมีที่มีทางในหัวใจลูกค้ามั่งน่ะ ไม่ใช่คนที่มาซื้อของราคาลดพิเศษ แล้วสะบัดตูดหนี ไม่กลับมาเหยียบร้านอีกเลย

ในฐานะผู้ประกอบการเล็ก ๆ เขาก็อยากจะทำงานที่เขาจะรักได้น่ะครับ

ในฐานะลูกค้าคนหนึ่ง เราก็อยากจะได้รับบริการในแบบนั้นใช่ไหมล่ะ

(จังหวะก่อนหน้านี้ เราจับได้ว่า เจ้าของร้านคนนึงเขาหลุดด้วย หลังโดนเร่งจากลูกค้ากลุ่มเบ้อเร่อที่เข้ามาใช้คูปอง แต่เขากลับมาได้แล้วนะ ไม่หลุดละ … จังหวะนี้ เจ้าของร้านอีกคน ขอโทษลูกค้าที่เข้ามาใหม่ว่า ขอโทษด้วย ทำไม่ทันจริง ๆ รับลูกค้าเพิ่มไม่ได้แล้ว … สู้ ๆ คร้าบบบบ)

// @lewcpe ตอบต่อใน Google+ (ทันสมัยเชียะ) ประเด็นเรื่อง off-peak น่าสนใจ


One response to “ensogo peel-off-the-day”

  1. คงมีกลุ่มที่ไม่สนใจดีลแนวนี้อยู่พอสมควร 🙂

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.