ปิดสนามบิน ปิดสนามหลวง เปิดสาธารณะ Berlin-Tempelhof re-opens as the city’s largest public park


อยากไปเดินบ้าง~~~!

รัฐบาลท้องถิ่นเบอร์ลิน เปิดสวนสาธารณะแห่งใหม่เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา มันเคยเป็นสนามบิน ชื่อ Berlin Tempelhof

Tempelhof เป็นสนามบินที่ผมไม่เคยใช้ ไม่เคยไป ได้แต่ผ่านเฉียดไปเฉียดมา

เบอร์ลินสมัยที่ผมอยู่ มี 3 สนามบิน คือ Tempelhof (THF), Tegel (TXL), และ Schönefeld (SXF) — อันหลังนี่ จริง ๆ มันอยู่นอกเบอร์ลินไปหน่อย อยู่ในรัฐ Brandenburg

ตอนไปเบอร์ลินครั้งแรก ผมนั่ง EasyJet ไปลง Schönefeld (คิดว่าน่าจะมาจากสนามบิน Luton – ไม่ค่อยชัวร์) ส่วนตอนกลับเมืองไทย ผมกลับ Austrian Airlines จาก Tegel

Tegel เป็นสนามบินอันนึงที่ผมชอบ คือมันเล็กดี แล้วมันเป็นวงกลม (หกเหลี่ยม) = เดินง่ายและไม่เหนื่อย วิกิพีเดียบอกว่า ระยะทางจากเครื่องบินไปจนถึงประตูทางออกจากอาคารผู้โดยสาร แค่ 30 เมตร! โคตรแฮปปี้เลยครับ นึกถึงดอนเมืองในประเทศ ที่เดินได้ชิล ๆ ไม่ต้องรีบ แล้วเทียบกะสุวรรณภูมิ ที่นอกจากจะโคตรยาว ไม่มีขนส่งมวลชนภายใน แล้วยังดันมีแต่ซุ้ม King Power ให้เกะกะเล่นตลอดทาง

ในหนังสายลับยุคสงครามเย็น เราจะเห็น Tegel อยู่บ่อย ๆ มันเป็นสนามบินหลักสนามบินหนึ่งในช่วงนั้น

Tegel สร้างในช่วงปฏิบัติการ Berliner Luftbrücke สะพานอากาศเบอร์ลิน หลังจากที่โซเวียตตัดการเดินทางทางบกเข้าสู่เขตปกครองของสัมพันธมิตรในเบอร์ลิน สัมพันธมิตรเลยตอบโต้ด้วยปฏิบัติการนี้ ขนเสบียงอาหารและของใช้ต่าง ๆ เข้าเบอร์ลินทางอากาศ โดยสหราชอาณาจักรใช้สนามบิน Gatow สหรัฐอเมริกาใช้ Tempelhof ส่วนฝรั่งเศสใช้ Tegel แต่ละสนามบินที่ว่ามา อยู่ในเขตปกครองของแต่ละประเทศสัมพันธมิตร เบอร์ลินสมัยนั้นแยกเป็นสี่เขตปกครอง

Berlin Tempelhof Luftbrueckendenkmal
อนุสรณ์สถาน Luftbrückendenkmal ที่ Tempelhof เพื่อระลึกถึงภารกิจ Luftbrücke ที่ฐานจำรึกข้อความ — “Sie gaben ihr Leben für die Freiheit Berlins im Dienste der Luftbrücke 1948/49” — “พวกเขาสละชีวิตของพวกเขาเพื่ออิสรภาพของเบอร์ลิน ระหว่างภารกิจสะพานอากาศ 1948/49”

การปิดกั้นเบอร์ลินของโซเวียตและปฏิบัติการสะพานอากาศนี้ นำไปสู่การแบ่งเยอรมนีออกเป็นสองส่วน

เขตปกครองของโซเวียต กลายเป็นเบอร์ลินตะวันออก ใช้สนามบิน Schönefeld ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง ซึ่งอยู่ในเยอรมนีตะวันออก

ส่วนเขตปกครองของสหรัฐอเมริกา-สหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส กลายเป็นเบอร์ลินตะวันตก ใช้ Tempelhof และ Tegel ส่วน Gatow นั้นเป็นสนามบินทางการทหารเพียงอย่างเดียว

Tempelhof สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่สร้างขึ้นช่วงนาซี ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กอันหนึ่งของเบอร์ลินใหม่ ตามแผน เมืองหลวงโลก Welthauptstade Germania ที่ฮิตเลอร์และกลุ่มสถาปนิกของเขาได้วาดเอาไว้ (นอร์แมน ฟอสเตอร์ สถาปนิกอังกฤษ บอกไว้ประมาณว่า มันเป็น พ่อสนามบินทุกสถาบัน) หลังอเมริกาและสัมพันธมิตรเข้ายึดเบอร์ลินได้ บริเวณ Tempelhof ก็ตกอยู่ใต้ปกครองของอเมริกา

Gatow ปิดตัวลงไปไม่นานหลังการรวมเยอรมนี Tempelhof ปิดตัวลงในปี 2008 ส่วน Tegel จะปิดในปี 2012 หลังจากนั้นเบอร์ลินจะเหลือสนามบินพาณิชย์แห่งเดียว คือ Schönefeld ซึ่งจะใช้ชื่อเป็น Berlin-Brandenburg International Airport

ชื่อสนามบินแห่งใหม่นี้เต็ม ๆ ในภาษาเยอรมันคือ Flughafen Berlin Brandenburg „Willy Brandt“ เพื่อเป็นเกียรติแก่ วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตก ที่ดำเนิน นโยบายตะวันออก Ostpolitik ปรับปรุงความสัมพันธ์กับเยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ และสหภาพโซเวียต นโยบายของเขาก่อให้เกิดการโต้แย้งอย่างมากในเยอรมนีตะวันตก เขาได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1971

วันที่ 7 ธันวาคม 1970 วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี คุกเข่าต่อหน้าอนุสาวรีย์วีรชนชาวโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ขอโทษประชาชนชาวโปแลนด์ที่ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือนาซีไปถึง 6 ล้านคน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ขณะที่ไปเยือนอนุสาวรีย์วีรชนโปแลนด์ในการต่อสู้ต่อต้านนาซี โดยไม่มีใครคาดคิด วิลลี บรันดท์ ได้คุกเข่าลงทั้งสองข้าง ภาพนี้เป็นข่าวไปทั่วโลก มีผู้ถามบรันดท์ในภายหลังว่า เขาได้วางแผนหรือทำไปด้วยความรู้สึกโดยอัตโนมัติ เขาตอบแต่เพียงว่า ขณะนั้น เวลานั้น ต้องมีผู้ทำอะไรสักอย่าง

ความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการขอโทษครั้งนี้ ก็คือการขอโทษในฐานะตัวแทนของชาวเยอรมันทั้งหมด วิลลี บรันดท์ มิใช่ผู้นำเยอรมันในการทำสงคราม ชาวเยอรมันรุ่นเขาแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเลยก็ว่าได้ เขาเป็นเพียงลูกหลานของบรรพบุรุษผู้เคยกระทำผิด ในฐานะผู้นำของประเทศที่เคยกระทำผิดทางประวัติศาสตร์กับประชาชนของอีกประเทศหนึ่ง และในภาวะที่คำพูดไร้ซึ่งความหมาย – เขาได้คุกเข่าลง

วิลลี บรันดท์เดินทางไปโปแลนด์เพื่อร่วมลงนามในสนธิสัญญากรุงวอร์ซอ ผลของสนธิสัญญา เยอรมันสูญเสียดินแดน 1 ใน 4 ของอาณาจักรไรซ์เดิมให้กับโปแลนด์ ชาวเยอรมันที่ตกค้างในโปแลนด์จำต้องอพยพกลับสู่เยอรมัน ชาวเยอรมันบางส่วนไม่เห็นด้วยกับสนธิสัญญานี้ แต่บรันดท์ชี้แจงว่า เยอรมันจำต้องจ่ายสิ่งเหล่านี้คืนให้กับความสูญเสียจากสงคราม เพื่อที่จะตัดห่วงโซ่แห่งความอยุติธรรมที่เป็นผู้ก่อขึ้น

— คำขอโทษที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์, ใน วิลลี บรันดท์-หมอป่วย-ตากใบและ บก.ฟ้าเดียวกัน. บทความวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 497

นายกเทศมนตรีเบอร์ลินบอกกับพวกเราว่า เมืองเบอร์ลินจะไม่รื้อรันเวย์ออกจาก Tempelhof เพื่อให้ผู้คนที่มาใช้สวนสาธารณะ ได้เห็นอนุสรณ์แห่งประวัติศาสตร์นี้

ต้นพฤศจิกานี้ ผมจะไปเบอร์ลิน ไม่พลาดแน่ ไม่เคยใช้สนามบิน ก็ขอไปเดินบนรันเวย์ละกัน …

ป.ล. กด ๆ วิกิพีเดียเล่น ไปเจอไอ้นี่ Staaken เขตเล็ก ๆ ด้านตะวันตกของเบอร์ลินตะวันตก ที่ยังไงไม่รู้ สลับไปเป็นเบอร์ลินตะวันออกเฉยเลย มี East/West Staaken ใน East/West Berlin ใน East/West Germany .. เพี้ยนดี


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.