อันล่วงละเมิดมิได้ the Untouchable ?


จาก ร่างพระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา อีกหนึ่งกฎหมายที่ถูกดัน เข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งถูกตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (มีกฎหมายจำนวนมากถูกนำเข้าสนช.ในช่วงนั้น กฎหมายจำนวนมากที่ผ่านออกประกาศใช้จากการนำเข้าพิจารณาในช่วงนั้น เป็นกฎหมายที่ในเวลาปกติน่าจะผ่านออกมาลำบาก จะต้องมีการอภิปรายหรือถูกตรวจสอบจากสังคมอย่างมากแน่) มีอยู่ร่างหนึ่งจาก พ.ศ. 2551 มีมาตรานี้:

มาตรา 40 ผู้ใดโฆษณาหรือไขข่าวด้วยประการใด ๆ ด้วยภาพ ตัวอักษร หรือข้อความที่ทำให้ปรากฏ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ หรือกระทำการกระจายเสียงหรือกระจายภาพ หรือกระทำการป่าวประกาศโดยวิธีอื่นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระภิกษุ สามเณร บรรพชิต หรือแม่ชี อันเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายต่อพระพุทธศาสนา หรือเป็นเหตุให้พระภิกษุ สามเณร บรรพชิต หรือแม่ชี แล้วแต่กรณี เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบัน ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีหลายร่างจากหลายองค์กร ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เว็บ phrathai.net หลายมาตราถูกเพิ่มเข้าเอาออกหรือแก้ไข อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามาตรา 40 อย่างในร่างข้างต้น สุดท้ายจะไปโผล่ในกฎหมายฉบับจริงหรือไม่ แต่มันก็สะท้อนได้ว่า มีคนคิดเรื่องแบบนี้อยู่

ประเทศนี้ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์อะไรทั้งสิ้น ห้ามเปลี่ยนแปลง ห้ามแตะต้อง

พอพิมพ์คำว่า ห้ามแตะต้อง เราก็นึกถึงคำว่า untouchable ซึ่งหมายถึงวรรณะจัณฑาลในอินเดียและเอเชียใต้ ในสังคมวัฒนธรรมเอเชียใต้นั้น ถือว่าวรรณะจัณฑาลเป็นวรรณะที่ต่ำที่สุด คนวรรณะอื่นจะไม่ข้องแวะข้องเกี่ยวด้วย ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า the untouchables

แนวคิดเรื่อง แตะต้องไม่ได้ เพราะจะทำให้เสียความบริสุทธิ์ ความศักดิ์สิทธิ์ ก็ทำให้นึกถึงบทความเกี่ยวกับพิธีกรรมและความเชื่อ ที่เราอ่านไปนิดหน่อยเมื่อเดือนที่แล้ว ชื่อ Scapegoats: The Killings of Kings and Ordinary People โดย Declan Quigley (Journal of the Royal Anthropological Institute. Volume 6 Issue 2, หน้า 237-254) เรารู้สึกว่าน่าสนใจมาก อยากจะหาเวลาอ่านทั้งหมดละเอียด ๆ อีกที

Quigley เขาศึกษาสังคมกลุ่มหนึ่งในแอฟริกา ส่วนหนึ่งของบทความพูดถึงแนวคิดสองแบบของคอนเซปต์ king (ซึ่งเรานึกไม่ออกว่าจะแปลยังไง มันไม่จำเป็นต้องเป็น กษัตริย์ แบบที่เราเข้าใจกันทั่วไป ก็ขอคงไว้ละกัน) แบบแรกคือ king เป็นบ่อเกิดความอุดมสมบูรณ์สงบสุขอะไรต่าง ๆ มาสู่แผ่นดิน แบบหลังคือ king เป็นเหมือนบ่อรับที่ดูดเอาความชั่วร้ายต่าง ๆ เข้าไว้กับตัว เพื่อที่แผ่นดินจะได้สงบสุข ทั้งสองแนวคิดที่เหมือนกันก็คือ king ทำให้แผ่นดินอุดม ที่ต่างคือวิธี และแนวคิดทั้งสองแบบสามารถนำไปสู่การ ฆ่า king ได้ (ซึ่งผมคิดต่อไปว่า อาจจะเป็นเพียงการฆ่าในทางพิธีกรรมก็ได้ ไม่ได้ตายจริง ๆ อาจจะพอเทียบคล้าย ๆ กับที่ไปนอนในโลงศพสะเดาะเคราะห์) เมื่อ king ที่เป็นบ่อเกิดไม่สามารถปล่อยหรือแผ่ความอุดมออกมาจากตัวได้แล้ว หรือ king ที่เป็นบ่อรับนั้นเต็มแล้ว ดูดอะไรเข้าไปไม่ได้แล้ว ก็มีความจำเป็นต้อง ฆ่า king เสีย เพื่อรักษา kingship (แปลเอาว่า ระบบ king ก็น่าจะได้) เอาไว้ (น่าจะเป็นที่มาของชื่อบทความ scapegoat ที่หมายถึง แพะรับบาป) แล้วก็มี king คนใหม่ขึ้นมาแทน วนแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่ง Quigley ก็บอกว่า เอ้อ แนวคิดแบบนี้ ลองเอามาทำความเข้าใจเรื่องวรรณะในเอเชียใต้ก็น่าจะได้นะ

กลับมาที่ร่างพ.ร.บ. เราว่าถ้ามันออกมาจริง ๆ จะลำบาก จะมีคนเดือดร้อนกันเยอะแน่ เรา ๆ ท่าน ๆ ที่ไม่เคยคิดจะด่าพระก็เดือดร้อนกันได้

ยังไง? บ้านหลายคนอยู่บนที่วัด เช่าวัด วัดก็เป็นนิติบุคคล มีที่ดิน และก็มีการใช้ประโยชน์บนที่ดินนั้นในทางต่าง ๆ รวมถึงเพื่อธุรกิจด้วย (เพื่อหารายได้เข้าวัด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อทำนุบำรงศาสนา) โดยทั้งที่วัดทำเอง ผ่านมูลนิธิของวัด ผ่านคณะกรรมการของวัด หรือกลุ่มคนหรือบริษัทที่วัดมอบหมาย ซึ่งก็เหมือนกับการทำธุรกรรมธุรกิจทั่วไปทุกอย่าง มันสามารถมีเรื่องขัดแย้งกันได้ ผิดสัญญาซื้อขาย ผิดสัญญาเช่า ไล่ที่ ฯลฯ … ปัญหาคือ ถ้ามีกฎหมายข้างบนนั่นจริง ๆ บุคคลจะฟ้องร้องพระหรือวัดได้ไหม ? หรือในการต่อสู้ทางสังคม การรณรงค์ต่าง ๆ จะเผยแพร่ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดเกี่ยวกับพระหรือวัดได้ไหม ? หรือสื่อจะเสนอข่าวเกี่ยวกับคดีดังกล่าวได้ไหม ? ถ้าเกิดพระท่านว่ามันทำให้ท่านถูกเกลียดชังล่ะ ?

พระดี ๆ ท่านก็มีเมตตา แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน พระห่วย ๆ ก็มีให้เห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์มากมาย

โอ้ ต่อไปหนังสือพิมพ์จะลงข่าวพระเสีย ๆ หาย ๆ ได้ไหมนี่ ?

เดี๋ยวจะถูกข้อหา หมิ่นพระ นะ

การไม่มีข่าวเสียหายเกี่ยวกับพระลงหนังสือพิมพ์ จะทำให้พระศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ?

ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็แปลว่าไม่มี … แบบนี้ก็ง่ายดีเหมือนกัน

technorati tags: 


5 responses to “อันล่วงละเมิดมิได้ the Untouchable ?”

  1. สงสัยศาสนาพุทธบ้านเรายังเสื่อมไม่พอ คนร่างกฏหมายเลยอยากให้เสื่อมยิ่ง ๆ ขึ้นไป (พระในชนบทไม่กล้าทำตัวเสื่อม เพราะชาวบ้านวิจารณ์ได้ หากทำตัวเสื่อม ชาวบ้านจะว่า ชาวบ้านจะไม่ใส่บาตร หากวิจารณ์ไม่ได้ หลัก check and balance ตัวนี้ก็จบเห่)เขาคงลืมไปว่าสิ่งต่าง ๆ มันจะดีขึ้นได้ ต้องเริ่มจากการติ จากการวิจารณ์ หากไม่เห็นข้อเสียอะไรเลย จะทำให้ดีขึ้นได้ยังไงแล้วกฏหมายก็กว้างโคตร ๆ "อันเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมเสีย" มันมีอะไรบ้าง ขนาดผมไม่เรียนกฏหมาย ยังรู้ว่า กม. อาญาแบบนี้มันออกไม่ได้ มันกว้างไป คุณกำลังจะใช้ กม. เพื่อจำกัดสิทธิของประชาชน ก็ควรออกให้รับผิดชอบ และรัดกุมหน่อยอย่างนี้นะ ต้องเอาคืน รวมหัวกันบวชพระ บวชชีกันให้หมด แล้ววิจารณ์ไอ้กฏหมายเกี่ยวกับ untouchable อีกตัวที่มีปัญหาอยู่ตอนนี้ให้หนัก ๆ ดูสิพวกจะทำยังไง untouchable vs. untouchable

  2. จริงครับ ผมก็ไม่เห็นด้วยที่ จะออกกฏหมายลักษณะแบบนี้ แม้ในทางธรรม จะมีกล่าวว่า ไม่ควรจะไปด่าหรือว่าผู้ทรงศีล ( ซึ่งก็ไม่แน่ว่าผู้น้นจะทรงศีลจริงหรือไม่ ) แต่ก็ไม่เหมาะถ้าจะ map เอาข้อว่าดังกล่าว มาเป็นตัว บทกฏหมายออกมา ( ไม่รู้ว่านำเอาข้อนี้มาเป็นตัวตั้งหรือไม่ ) ควรจะออกกฏหมายที่ช่วยตัวระบบมากกว่า เป็น การยกลักษณะตัวบุคคล เพราะบุคคลสามารถที่จะถูกวิจารณ์และกล่าวหาได้และที่สำคัญบุคคลย่อมทำผิดได้ ช่องโหว่ที่น่ากลัวอย่างที่ @bact เขียนมาก็ยกตัวอย่างได้เห็นภาพครับ กับ การที่ไม่สามารถที่จะตรวจสอบ หรือ จัดการอะไรได้ หากเกิดกรณีที่ต้องมีการฟ้องร้องหรือเรียกร้องสิทธิจากประชาชน อย่างพระนอนกับสีกาในกุฏิ , กินเหล้า etc.. ถ้าเอาข้อนี้มา ใครจะไปฟ้องหรือแจ้งความ ก็ทำไม่ได้แล้ว จำนวนคนที่บวชเยอะ ปัญหาก็ยิ่งเยอะตามมาด้วย เพราะทุกคนที่บวช ก็ใช่ว่าจะเป็น อริยบุคคล กันหมดทุกท่าน แทนที่จะช่วยศาสนา กับ เป็นช่องให้ศาสนาถูกดูหมิ่นยิ่งขึ้นไปอีก ยกอย่างถ้าใครอยากจะเป็นเจ้าคนนายคน ก็เข้าไปบวชเลย กูทำอะไรก็ได้ ..?!พระเถระ หรือ พระอริยเจ้าทั้งหลายแม้จะ ถูกเสียงก่นด่า เสียดสี อะไรต่างๆ ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้ สนใจ ซึ่งท่านเหล่านัน ก็อยู่เหนือโลกอยู่แล้วถ้าอยากจะ protect จริงๆ ก็คือมี คณะตัวกลาง ร่วมสองฝ่าย ตัดสินคุ้มครองเป็นกรณีๆ ไป ยังจะเหมาะกว่าการให้แบบเหวี่ยงแห แบบนี้

  3. อ่านแล้วเหมือนกฏหมายหมิ่นประมาทธรรมดานะ ถ้าพระ(หรือมีคนฟ้องแทน)ฟ้องหมิ่นประมาท มันก็น่าจะทำได้นะ คือถ้าสู้กันด้วยข้อเท็จจริงก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

  4. จริง ๆ แล้วศาสนาพุทธพึ่งมาเจริญเอาตอนหลัง ๆ นี่เองมังครับ สมัยก่อนพระจับดาบสู้กับพม่ายังได้เลย (ฮา) ไม่ได้ขำนะเรื่องจริง ศาสนาเสื่อม ก็ไม่เห็นแปลกนี่นา มีอะไรในโลกบ้างที่เสื่อมไม่ได้ คำสอนของพระพุทธเจ้ายังอยู่ได้แค่ห้าพันปีเอง

  5. อาร์ท เปนไงม่างงานยุ่งมาก !!!ช่วงนี้มีงานติ๊บ กะเรา แสดงอยู่ที่หอศิลป์นะว่างๆ ไปเดินได้ ชั้นสี่ หน้าบันไดเลื่อนเลย

Leave a Reply to Beamer UserCancel reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.