O’Neill’s Leicester City


ตามไปดูลิงก์ขำ ๆ (มุขควายฟุตบอล) ที่น้องโพสต์ไว้ที่เว็บบอร์ดคณะ

แล้วก็เจอกับชื่อที่ไม่ได้เจอเสียนาน สตีฟ กัปปี้ (Steve Guppy)

ได้รู้จักกับ สตีฟ กัปปี้ ครั้งแรก ตอนที่เขาเล่นกับ เลสเตอร์ ซิตี้ ในพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ สมัยที่ มาร์ติน โอนีล ยังคุมทีมอยู่
ตำแหน่งของเขาคือวิงแบ็กด้านซ้าย

เลสเตอร์ในสมัยนั้น เล่นระบบ 3-5-2 มีวิงแบ็กสองตัววิ่งขึ้นลง เป็นทีมเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ ผู้เล่นไม่ได้มีเทคนิคแพรวพราว แต่เล่นกันง่าย ๆ เล่นอย่างมีระบบ และมักจะเล่นได้ดีในบอลถ้วย ที่เน้นผลการแข่งขันเป็นนัด ๆ ไป โดยประสบความสำเร็จได้แชมป์ลีกคัพสองครั้ง เมื่อปี 1997 และปี 2000 และได้โควต้าไปเล่นฟุตบอลยุโรป

ผู้เล่นที่น่าสนใจในยุคนั้น ที่ผมจำได้ก็คือ เคซีย์ เคลเลอร์ โกล์สุดหนึบชาวอเมริกัน มุซซี่ อิสเซ็ต กองกลางตัวทำเกมตัวเก่ง ที่ทำสถิติจ่ายให้เพื่อนยิงมากที่สุดในพรีเมียร์ลีก ในฤดูกาล 2003-2004 อิสเซ็ตยืนในแดนกลางคู่กับ นีล เลนนอน กองกลางตัวรับที่ดุดันแต่ไม่โฉ่งฉ่าง และ ร็อบบี้ ซาเวจ กลางตัวรับพันธุ์ดุ (สมชื่อ) อีกคน สองคนนี้เป็นตัวหยุดบอลก่อนจะถึงแนวรับ ที่มี แมตต์ เอเลียต ปราการหลังร่างใหญ่กัปตันทีมยืนคุมอยู่ พร้อมเพื่อนกองหลัง เจอร์รี่ แท็กการ์ต สตีฟ วอลช์ และ แฟรงก์ ซินแคลร์

แมตต์ เอเลียต นี้นอกจากจะเล่นตำแหน่งกองหลังตัวกลางแล้ว ยังสามารถขึ้นไปยืนเป็นกองหน้าตัวเป้าได้อีกในยามฉุกเฉิน (เช่นเดียวกับ สตีฟ วอลช์) ส่วนคู่กองหน้าตัวจริง ก็คือ โทนี่ ค็อตตี้ และ เอมิล เฮสกี สองคู่หูเล็ก-ใหญ่ ที่รายหลังมักจะโหม่งพักบอลให้รายแรกอยู่เสมอ

(แสตน คอลลีมอร์ กองหน้าพรสวรรค์เจ้าปัญหา เคยเล่นให้กับเลสเตอร์ในยุคนี้พักหนึ่งสั้น ๆ ก่อนจะโชคร้ายขาหัก และไม่ได้มีส่วนกับความทรงจำของเลสเตอร์เท่าไหร่นัก)

และตัวสำคัญจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากวิงแบ็กฝั่งซ้าย สตีฟ กัปปี้ ที่คอยเปิดบอลสวย ๆ จากกราบซ้ายนั่นเอง สถิติการเปิดบอลจากกราบของ สตีฟ กัปปี้ นั้นดีมาก ในระดับยุโรปจะเป็นรองก็เพียง เดวิด เบ็คแฮม เท่านั้น ซึ่งในทีมชาติอังกฤษยุคนั้นเบ็คแฮมยังเล่นเป็นตัวริมเส้นฝั่งขวาอยู่ และทีมก็มีปัญหาเรื่องผู้เล่นริมเส้นฝั่งซ้ายมาก ที่เปลี่ยนเท่าไรก็ไม่ลงตัวสักที ผลงานของ สตีฟ แม็คมานามาน ที่เป็นผู้เล่นหลักในตำแหน่งนี้ (หรือบางครั้งแทนด้วย แกรม เลอ โซ) ก็ไม่เด่นเท่าไหร่นัก ในตอนนั้นหลายคนก็ถามถึงโอกาสของ สตีฟ กัปปี้ แต่จนแล้วจนรอด เขาก็มีโอกาสเล่นให้ทีมชาติแค่ครั้งเดียว ส่วนนึงก็คงเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในสโมสรใหญ่

ความโดดเด่นของกัปปี้ ทำให้โอนีลเรียกใช้บริการของเขาอีก เมื่อย้ายไปคุมทีมเซลติก (เช่นเดียวกับ นีล เลนนอน)

(ส่วนวิงแบ็กฝั่งขวานั้นคือ แอนดี้ อิมปีย์ ซึ่งไม่ค่อยเด่นนัก)

สมัยนั้น ในคราวที่เลสเตอร์ไม่ได้แข่งกับอาร์เซนอล ผมมักจะเชียร์ทีมนี้อยู่เสมอ ๆ ตอนที่เล่นเกม Championship Manager ก็มักจะเลือกเล่น เลสเตอร์ ซิตี้ (หรือไม่ก็ทีมดิวิชั่นล่าง ๆ ไปเลย) รู้สึกว่าเป็นทีมที่น่าสนใจ ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ก็อาจจะประมาณ เอเวอร์ตัน หรือ พอร์ตสมัธ ได้มั๊ย ? (แต่ผมว่าไม่เหมือน แอสตัน วิลล่า นะ ถึงจะมี มาร์ติน โอนีล คุมอยู่ก็เถอะ)

เกมของเลสเตอร์ไม่มีอะไรมาก ไม่กัปปี้เปิดจากริมเส้นให้เฮสกีโหม่ง ก็เป็นอิสเซ็ตแทงบอลให้ค็อตตี้อาศัยความถึก+คล่องวิ่งทะลุไปยิง หรือไม่ก็โยนจากด้านหลังมาให้เฮสกีพักบอลให้ค็อตตี้ แต่แค่นี้ก็ทำให้ทีมเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มีเงินเยอะนักทีมนี้ ยึดตำแหน่งในสิบอันดับแรกของตารางมาตลอด แถมได้แชมป์ถ้วยเล็กในบางปี

ดีกว่าทีมใหญ่บางทีมที่ยังไม่ได้แชมป์อะไรเลยมาหลายปีแล้ว (เปล่าแซวนะ)

technorati tags:
,


One response to “O’Neill’s Leicester City”

  1. เลสเตอร์สมัยนั้น มีนักเตะที่ชื่อคุ้นๆ หลายคนจริงๆเฮสกีย์ชอบมาโหม่งหงส์แต่พอมาหงส์ก็ไม่รุ่งมากมาย(สมัยอยู่เลสเตอร์นี่ ถึกเทพ พักบอลได้ตลอด)กระทู้มุขควายนี่ฮาดีแฮะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.