Dr. Sa-nguan life and thoughts


จากหนังสือ งานกับอุดมคติของชีวิต นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (หน้า 3-5)

… ผมเข้าร่วมขบวนการกิจกรรมนักศึกษาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จนกระทั่งขบวนการกิจกรรมนักศึกษาถูกทำลายในวันที่ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 แม้ว่าจะไม่ใช่ประเภทมือไมค์ไฮปาร์ค ซึ่งไม่ใช่สไตล์ของนักศึกษามหิดล แต่เราก็มีรูปแบบกิจกรรมที่ไปเสริมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในแนวทางของเรา

ที่ผมมองว่าสังคมนักศึกษาขณะนั้นเป็นสังคมอุดมคติ ก็เพราะในขณะนั้นชีวิตนักศึกษาเป็นสังคมรวมหมู่ที่ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอาใจใส่ซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายอย่างเดียวกันก็คือ การที่จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม และก็ทำให้ประเทศชาติเป็นประเทศที่มีความยุติธรรม ประชาชนทุกคนมีศักดิ์ศรี ไม่ถูกทอดทิ้ง

ผมจำได้ว่ารู้สึกรักและนับถือเพื่อนนักศึกษาหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ทุ่มเทชีวิตทั้งกายและใจเพื่อที่จะรับใช้ประชาชน ซึ่งแรงบันดาลใจและตัวอย่างจากคนเหล่านี้ ทำให้ผมมีแนวคิดและมีความฝังใจว่า อยากจะเห็นสังคมรวมหมู่ที่ดีที่ทุกคนแบ่งปันเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นฐานคิดที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ว่า เราจะไม่ปล่อยให้พี่น้องในสังคมเดียวกันนี้ต้องป่วยตายและตายไปโดยไม่ได้รับการดูแลด้วยเหตุว่าเขาไม่มีเงิน

เมื่อมีการปราบปรามนักศึกษาผมเองก็มีชื่ออยู่ในบัญชีที่ต้องถูกจับกุมเช่นเดียวกับเพื่อนนักกิจกรรมคนอื่น ๆ อีกหลายคน ในเวลานั้นพวกเราแต่ละคนต้องตัดสินใจเลือกทางชีวิตของตัวเอง ในจำนวนไม่กี่ทางเลือกที่มี ผมตัดสินเลือกที่จะอยู่ต่อสู้ในเมืองต่อไป แม้ว่าต้องหลบซ่อนตัวอยู่ระยะหนึ่งก็ตาม ในขณะที่เพื่อน ๆ จำนวนหนึ่งเลือกที่จะไปจากเมืองเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล

นอกจากนั้น ความที่ผมไม่ถูกจับ แม้จะมีรายชื่อตามจับของทางการอยู่ ทำให้ผมไม่สามารถจะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรต่อหน้าพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การรับปริญญาต่อหน้าพระพักตร์และมีรูปถ่ายไปติดที่บ้าน ถือเป็นค่านิยมของครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งเป็นครอบครัวชาวจีน เป็นค่านิยมที่พ่อแม่จะภาคภูมิใจเป็นอันมาก ผมเองอยากจะให้ความภาคภูมิใจกับคุณพ่อคุณแม่ผมมาก และปราถนาอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสนั้น ในขณะนั้นผมถูกเรียกไปพบจากอาจารย์ผู้ที่รักและห่วงใยผมมากท่านหนึ่ง คือคณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ได้แก่ ศ.นพ. ทวี บุญโชติ ได้แจ้งกับผมว่าทางตำรวจได้แจ้งกับทางมหาวิทยาลัยว่า ผมจะต้องไปมอบตัวเนื่องจากผมเป็นผู้ที่มีรายชื่อว่าทางการตามจับอยู่ จากนั้น ผมก็จะเป็นอิสระ จะไม่มีผู้เฝ้าติดตาม และสามารถไปรับพระราชทานปริญญาต่อหน้าพระพักตร์ได้ นอกจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว ตำรวจยังส่งผู้บริหารโรงพยาบาลวชิรพยาบาลซึ่งผมทำงานอยู่มาเกลี้ยกล่อมผมด้วย ผมได้แจ้งกับผู้บริหารทั้งจากมหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลวชิรพยาบาลอย่างสุภาพ แต่ดื้อรั้นว่า ผมไม่ได้ทำอะไรผิด การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเป็นไปได้ด้วยความหวังดีต่อชาติบ้านเมืองและประชาชน หากทางตำรวจเห็นว่าผมทำผิดและมีหมายจับอยู่ ก็มาจับกุมได้เลย ผมจะไม่หนีไปไหน แต่ผมจะไม่มีทางมอบตัวเด็ดขาด ผมยังได้บอกไปอีกว่า หากให้เลือกใหม่ได้ ผมก็คงยังเลือกทำแบบเดิมอีก (พูดง่าย ๆ ก็คือ ยืนยันว่าขบวนการนักศึกษาไม่ได้ทำอะไรผิดแม้จะถูกตามจับก็ไม่เสียใจ)

ทั้งหมดเป็นการพูดที่ออกไปจากความรู้สึกที่แท้จริงในขณะนั้น สุดท้ายผมจึงจบมหาวิทยาลัยไปทำงานต่างจังหวัดโดยไปรับปริญญาจากสำนักงานอธิการบดีเองในภายหลัง


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่หนังสือ 3 เล่ม เพื่อเผยแพร่ข้อเขียนที่ทรงคุณค่าให้เป็นประโยชน์กับสังคม และสมทบ “กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อสานต่อภารกิจครั้งสุดท้ายของนพ.สงวนต่อไป

สนใจ ติดต่อ
สำนักสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โทร. 0-2831-4000 ต่อ 4134
และดาวน์โหลดที่เว็บสปสช. (หรือตามลิงก์ข้างบน)

ร่วมอาลัย นพ. สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (18 มี.ค. 2495 – 18 ม.ค. 2551)

[ ลิงก์ สปสช. | ผ่าน หมวย ]

technorati tags:
,
,
,
,


Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.