Bigger Better Bottle Bill for Bigger Greener Apple


เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2551 ที่ผ่านมา รัฐสภานิวยอร์กได้เห็นชอบให้ปรับปรุงรัฐบัญญัติการมัดจำขวด “Bottle Bill” ของเดิม ซึ่งกำหนดให้มีการมัดจำขวดน้ำอัดลม ขวดละ 5 เซนต์ ให้ครอบคลุมเครื่องดื่มไม่อัดลม เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด และ เครื่องดื่มเกลือแร่ ด้วย พร้อมทั้งระบุให้นำเงินมัดจำที่ไม่ได้ถูกแลกคืนส่งแก่กองทุนเพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Fund – EPF) ของนิวยอร์ก

กฎหมายที่ถูกปรับปรุงใหม่นี้ (A-8044-A/Sweeney) มีชื่อเล่นว่า “Bigger Better Bottle Bill”
และผ่านสภาไปด้วยคะแนน สนับสนุน 91 เสียง ไม่สนับสนุน 54 เสียง (สภาของนิวยอร์กมีบันทึกการประชุมและการลงคะแนนให้ดูในเว็บไซต์ด้วย ดูได้เลยว่าผู้แทนคนไหนโหวตอะไรไปบ้าง)

ในตอนที่กฎหมายเดิมผ่านใช้ใน พ.ศ. 2525 นั้น ยังไม่มี น้ำดื่มบรรจุขวด ชาพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มเกลือแร่ จำหน่าย
แต่ตอนนี้พวกมันมีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 25

ในบันทึกประกอบรัฐบัญญัติระบุว่า กฎหมายนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดเศษขยะและเศษแก้วต่าง ๆ ในที่สาธารณะ ตามถนนหนทาง สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ ชายหาด รวมทั้งลดภาระการจัดการขยะที่แบกรับโดยองค์การปกครองท้องถิ่นและผู้เสียภาษีอีกด้วย

การขยายขอบเขตกฎหมายออกไปให้ครอบคลุมบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มอื่น ๆ ด้วย จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้สะอาด และช่วยประหยัดจากการรีไซเคิล

ประมาณกันว่า กฎหมายฉบับปรับปรุงนี้ จะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐเข้ากองทุนปกป้องสิ่งแวดล้อมดังกล่าว

กฎหมายนี้ถูกต่อต้านจากบริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ ร้านชำ และร้านขายเหล้า ซึ่งจะต้องเสียค่าดำเนินการเพิ่มขึ้น
แต่อีกด้านก็ได้รับการสนับสนุนอย่างท้วมท้น จากทั้งองค์กร สมาคม สหภาพแรงงาน และหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ โดยแคมเปญสนับสนุนนี้มีหน้าเว็บอยู่ที่
http://www.nypirg.org/enviro/bottlebill
ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มวิจัยประโยชน์สาธารณะนิวยอร์ก – New York Public Interest Research Group (NYPIRG)

สำหรับคนที่สนใจเรื่องกฎหมายการมัดจำบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ BottleBill.org

—-

ตอนที่อยู่เยอรมนี ผมเห็นว่าการมัดจำขวดนี่ มันได้ผลดีจริง ๆ นะ ขวดทุกอย่างที่มีมัดจำ จะถูกเก็บเอาไว้รอไปแลกเงินคืน
คือน้ำหมดไปแล้ว เราก็ยังใส่มันลงในกระเป๋าได้ครึ่งวันค่อนวัน เพื่อรอหาที่ที่จะไปแลกเงินคืนได้ ถ้าหาไม่ได้ ก็เอากลับบ้าน เอาไปรวมกับขวดที่บ้าน รอเอาไปแลกคืนที่ซูเปอร์ใกล้ ๆ บ้านพร้อมกันทีเดียว ขวดแก้ว 8 ยูโรเซนต์ (4 บาท) ขวดพลาสติก 25 ยูโรเซนต์ (12.50 บาท) บางครั้งเอาไปแลกด้วย+ซื้อของกลับบ้านด้วย ยังมีเงินเหลือ 😛

อย่างไรก็ตาม มันก็จะมีขวดมีกระปุกจำนวนนึง ที่ไม่ได้มีมัดจำ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่ใครจะจัดการยังไง
โดยหลักแล้วก็เอาไปทิ้งลงในถังแยกขยะ ซึ่งมันก็จะมีหลาย ๆ สี สำหรับกระดาษลัง สำหรับพลาสติก-เหล็ก-ของที่เอาไปรีไซเคิลได้ สำหรับแก้ว (ซึ่งบางที่ก็จะต้องแยกสีแก้วด้วย ใส สีชา สีเขียว) ขยะเปียก-ย่อยสลายได้ บางคนก็ฟิตมาก พวกกระปุกที่มีฉลากอะไรต่าง ๆ เขาก็เอาไปแช่น้ำ ลอกมันออกมา ก่อนเอาไปทิ้งในถังแก้ว ฟิตมาก ๆ

คนเยอรมันหลายคนที่เห็น เกือบทุกคนเลยดีกว่า แยกขยะโดยธรรมชาติ ทำเหมือนกับเป็นเรื่องปกติ
คือผมเวลาอยู่บ้านตัวเอง (ที่โน่น) บางทีก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ ขี้เกียจ เวลาอยู่ในครัว บางครั้งรีบ ๆ ถุงที่ควรจะทิ้งลงไปมันเต็มเพราะยังไม่ได้เอาไปทิ้ง ก็โยนรังไข่ลงลงถุงขยะเปียกบ้าง โยนขวดน้ำมัน (เป็นพลาสติก แต่ไม่มีมัดจำ) ลงไปบ้าง ไม่ได้เคร่งครัดมากเท่าไหร่ แล้วเวลาไปบ้านเพื่อนก็จะ โห มึงขยันอ่ะ บางบ้านมีห้าถังหกถัง แยกย่อย มีถังหมักขยะจากครัวเอาไปทำปุ๋ยด้วย เห็นแล้วนับถือใจ แต่ยังไม่คิดจะทำเอง ของผมอย่างมากก็คือตามถังในอพาร์ตเมนต์น่ะ เพราะถ้าทิ้งผิดประเภทจะโดนด่าแน่ อพาร์ตเมนต์เค้ามีถัง 4 ประเภท ผมก็แยก 4 ประเภท แค่นั้น

เขียนยาว (เดือนนี้เพิ่งโพสต์ไป 5 อันเอง อันนี้อันที่ 6) ก็แค่จะบอกว่า
ใจผมอยากให้เมืองไทย อย่างน้อยก็เมืองใหญ่ ๆ มีกฎหมายลักษณะนี้บ้าง บังคับมัดจำขวด บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนขยะ
แต่อีกทาง ก็สงสัยว่า หรือวิธีที่เหมาะกว่าสำหรับบ้านเรา ก็คืออย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทิ้ง ๆ ไปเถอะ เดี๋ยวก็มีคนเก็บขยะขาย มาแยกเอาขวด เอากล่อง ที่มีราคาออกไปให้เอง ประเทศไทยอาจจะต้องใช้ระบบไทย ๆ แบบนี้ก็ได้ ?

วิธีลดขยะอื่น ๆ นอกจากขวด ก็มีเช่น การพับกล่องนม เพื่อลดปริมาณตอนจัดเก็บ เคยเห็นครั้งแรกจากบล็อกแถว ๆ Planet TLWG เข้าใจว่ามาจากทางญี่ปุ่น

[ ผ่าน Social Design Notes ]

technorati tags:
,
,


4 responses to “Bigger Better Bottle Bill for Bigger Greener Apple”

  1. ผมมักจะลดปริมาตรขยะอย่างพวกกระป๋องน้ำอัดลมอะไรพวกนี้ด้วยการบีบให้มันเล็ก ๆ แต่บางทีกลางเป็นคนอื่นมองว่าบ้าพลังซะอย่างนั้น ฮ่ะ ๆกล่องนมนี่เมื่อก่อนพับแฮะ แต่ลืมไปแล้ว 😛

  2. คนเยอรมันครึ่งเดียวที่แยกขยะนะครับ คนเิยอรมันที่ภาควิชาฯ ยังไม่แยกเลย คนรวยแยกแต่คนจนไม่แยก

  3. เกี่ยวสิ คนที่สนปากท้องเป็นหลัก ก็จะคิดถึงเรื่องพวกนี้น้อยลง เป็นปกตินะที่บ้านเคยแยกเก้าชนิด ปัญหาทางเศรษฐกิจก็เหลือแยกแค่สี่ (รีไซเคิล ทั่วไป กระดาษ วัตถุมีพิษ) มานานแล้ว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.