Thailand’s Economy Trends


แนวโน้มเศรษฐกิจไทย : การรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

โดย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
(The Thailand Development Research Institute – TDRI)
7 กรกฎาคม 2548

เค้าว่า…

ตะกี้ดูผ่าน ๆ ไปบนรถไฟ จับใจความได้ดังนี้

ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลของเราบริหารประเทศแบบมองโลกในแง่ดี(มาก)
ในภาษาที่ TRDI ใช้ในสไลด์คือ บริหารแบบใช้หลักการตลาดนำหลักเศรษฐศาสตร์ (โดยหวังว่าถ้าสร้างภาพให้เกิดความเชื่อมั่นได้ ผลก็จะตามมาเอง)

ในสไลด์ไม่ได้ว่าตรง ๆ ว่า มันไม่ดี เพียงแต่อันตรายไปหน่อย คือถ้าเกิดทุก ๆ อย่างเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดไว้ เศรษฐกิจไทยจะสดใสแน่นอน เหมือนกับปี 47 ที่ผ่านมา ที่ภาคการผลิตทุกภาคขยายตัว และดุลระหว่างประเทศเกินดุลถึง 2.8 แสนล้านบาท

เผอิญว่าโลกนี้อะไร ๆ มันก็ไม่แน่นอน อยู่ดี ๆ สึนามิก็เข้า น้ำมันก็ขึ้น เศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ชะลอตัว (=การส่งออกของไทยก็ชะลอตาม) ไหนจะเรื่อง หวัดนก (=ไก่ส่งออก) และปัญหาความรุนแรง 3 จังหวัดภาคใต้อีก

5 เดือนแรกของปี 48 นี้ – เราขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 1.8 แสนล้านบาท (~2.6% GDP)
ในขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 47 – เกินดุล 0.92 แสนล้านบาท และทั้งปี 47 เกินดุล 2.8 แสนล้านบาท (~4.3% GDP)

สาเหตุคือ แม้การส่งออกจะขยายตัว 11.6% แต่การนำเข้าน่ะเพิ่ม 28.9%
(อัตราการขยายตัวของการส่งออกไปสู่ประเทศที่มีข้อตกลง FTA กับไทยมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราการขยายตัวของการนำเข้ากลับมีแนวโน้มสูงขึ้น)

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ขยายตัว 3.3% (ไตรมาสแรก ปีที่แล้ว ขยายตัว 6.7%)
ชะลอตัวลงในทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคการเกษตร หดตัว 8.2% (ไตรมาสแรก ปีที่แล้ว หดตัว 2.0%)

การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน หดตัว
แต่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว โดยเฉพาะด้านเครื่องมือเครื่องจักร ขยายเพิ่ม 58.6%

สรุปสั้น ๆ ห้วน ๆ ได้ว่า นอกจากภัยธรรมชาติซึ่งหนีไม่พ้นแล้ว ยังโง่ทำตัวเองซ้ำอีก .. เยี่ยมเลย

การบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ขยายกันนั้น ก็คือ อภิมหาโครงการ (mega project) ต่าง ๆ นั่นเอง (สร้างครึ่งนึง กินครึ่งนึง, อันนี้ TDRI ไม่ได้บอก ผมพิมพ์ไปงั้นแหละ ขำ ๆ)
ส่วนการนำเข้าหลัก ๆ ที่ทำให้ขาดดุลนั้น คือ สินค้าพลังงาน
แล้วไหนจะเสียเงินไปวันละ 130 ล้าน เพื่ออุดหนุนราคาน้ำมันอีก

จากตัวเลขที่ TDRI เอามาให้ดู (หน้า 28) จะหาว่าคนไทยตอนนี้ฟุ่มเฟือยไม่ได้แล้วล่ะ
การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยขยายตัวลดลง บางตัวหดตัวลงด้วยซ้ำ
ในชาร์ต มีขยายตัวเพิ่มอยู่สองอย่าง
อย่างแรก รถกระบะ (จาก 23.2% เป็น 29.4% – แต่ก็คงเพราะรถเก๋งลดจาก 20.2% เป็น -15.3% ถือเป็นสินค้าทดแทนได้เหมือนกัน)
ส่วนอีกอย่าง .. เหล้า (แบบว่า.. กลุ้มโว้ย! 😛 – แต่เบียร์ขยายลดลงนะ ส่วนน้ำอัดลมนี่หดไปเลย)

แปลไทยเป็นไทยได้ว่า: ประชาชนทั่วไปน่ะ เค้าประหยัดมานานแล้ว – มีก็ท่าน… น่ะแหละ ยังไม่ยอมประหยัดกัน (แหม แบ่งกันหลายคน หลายวัง น้ำนู้น น้ำนี้ จะประหยัดไงไหว 😛 … บอกว่า ขำ ๆ เอ๊ะ)

TRDI เสนอ:

  • เลิกชดเชยราคาน้ำมันทันที เพราะนอกจากจะเปลืองงบซึ่งเอาไปทำอย่างอื่นได้ประโยชน์กว่า ยังบิดเบือนพฤติกรรมการบริโภคด้วย
  • ปรับลดขนาดโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งหมดลง โดยเฉพาะให้ระวังพวกเงินกู้หรืองบผูกพัน ที่จะทำให้ต้องแบกรับภาระกันไปนาน และทำให้ความคล่องตัวด้่านนโยบายในระยะยาวลดลง
  • ส่งเสริมการพัฒนาเครื่องยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาพลังงานทางเลือก (ตรงนี้ TDRI ย้ำด้วยว่า อย่าไปดูกันที่ ซีซี ให้ดูกันที่ กิโล/ลิตร จะตรงจุดกว่า)

งานนี้ไม่รู้จะจะโดนว่าว่าเป็น ขาประจำ รึเปล่า 😛


3 responses to “Thailand’s Economy Trends”

  1. อ้อ แต่เท่าที่เคยอ่านข่าวตลาดน้ำอัดลม รวมถึงน้ำผลไม้ปีที่ผ่านมา หดตัวเพราะ ชาเขียว นะครับ :)มาแรงฉุดไม่อยู่จริง ๆ ชาเขียวเนี่ย

  2. ผมมีคำถามว่า ถ้าเราเลิกชดเชยราคาน้ำมันแล้ว(กล่าวคือให้ราคาน้ำมันลิตรละ 70-100 บาท หรืออาจจะมากกว่านั้น เหมือนในยุโรป) แน่นอนเราต้องอุ้มอุตสาหกรรมบางอย่างเพื่อให้แข่งขันได้ในตลาดโลก(หลายประเทศทำแต่บอกว่าไม่ได้ทำ) TDRI มีนโยบายอะไรรองรับความอยู่รอดของผู้บริโภคหรือยังที่ราคาสินค้าจะสูงขึ้นมากกว่าเท่าตัว แล้วคนจนๆ จะอยู่ได้อย่างไร เมื่อราคารถเมล์ร้อนเป็น 10 บาท พูดน่ะง่าย ไม่ต้องแค่คนจนหรอก คนอย่าง bact' ก็ขายตู้ไม้ไม่ออกนะอย่างเนี้ย เพราะสินค้าอยู่ระดับคนชั้นกลาง-ถึงล่าง ???? ถ้าราคาขึ้นเท่าตัวใครจะมาซื้อ อย่างนี้ตลาดชั้นสูงกินเรียบ

  3. ในการนำเสนอ TDRI แจ้งไว้เลยครับ ยอมรับว่า ถ้าดำเนินตามคำแนะนำที่ TDRI เสนอนั้นGDP ในระยะสั้น จะลดลงแน่แต่ในระยะยาวแล้ว GDP จะลดลงน้อยกว่าการดำเนินนโยบายในปัจจุบันรวมถึงจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลงด้วย(คือ GDP จะยังลดลง และบัญชีเดินสะพัด ก็จะยังขาดดุล แต่ว่าน้อยกว่า)เข้าใจว่าการวิเคราะห์ของ TDRI เป็นลักษณะโมเดลภาพรวม ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าในระดับจุลภาคใครจะทำอะไรยังไง(เหมือนเป็นตัวเลขยัดเข้าไปในกล่องดำ แล้วก็ได้ตัวเลขอีกตัวออกมา แต่ชี้ให้ชัดเจนไม่ได้ว่า ในกล่องจะเป็นตายร้ายดียังไง .. ก็เหมือน ๆ กับโมเดลทางสถิติหลาย ๆ อัน)ไอ้เรื่องอุ้มนี่ ทุกประเทศทำแหละครับ ถ้ามีกำลังสหรัฐอุ้มฝ้าย ยุโรปอุ้มสินค้าเกษตร ฯลฯเราก็อุ้มอุตสาหกรรม อุ้มประมง ด้วยการพยุงราคาน้ำมันแต่ตอนนี้มันจะไม่ไหวแล้วน่ะสิที่บ้านเดี๋ยวนี้ก็หนีไปขายร้านอาหาร ขายอะไรง่าย ๆไม่สต็อกของเยอะ ไม่สั่งของแปลก ๆ มา(ยอมเสียลูกค้าบางครั้ง กรณีเราไม่มีของ ดีกว่าเสี่ยงตุนไว้ แล้วไม่มีคนซื้อ)ผมไม่แน่ใจว่าลำพังการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเนี่ย มันจะพอสำหรับอุตสาหกรรมรึเปล่าดูจะเป็นแหล่งที่พึ่งพาได้มากที่สุดตอนนี้ส่วนไบโอดีเซล หรือเอธานอลนี่ ก็ล้ม ๆ ตั้ง ๆ ตามอารมณ์ คนทำน่ะทำจริง แต่คนสนับสนุนนี่ แหย่เข้าแหย่ออก

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.