username และ password ต่างๆ
ทั้ง อีเมล im blog สารพัดอย่าง
ที่เป็นของส่วนตัว (ไม่ใช่เรื่องงาน/ใช้ร่วมกับคนอื่น)
ควรจะบอกไว้ในพินัยกรรม หรือบอกใครไว้ก่อนสิ้นใจรึเปล่า?
เผื่อมีอะไรสำคัญ
หรืออย่างน้อย ก็ให้เค้าล็อกเข้าไปส่งอีเมลหาทุกคนในสมุดที่อยู่ของเรา ว่าเราตายแล้วนะ
หรือจะให้ปล่อยหายไปพร้อมกับคนเลย
คนสมัยนี้ รู้วิถีชีวิตของคนสมัยก่อน รวมทั้งความรู้เก่าๆ
ส่วนนึง ก็จากจดหมาย บันทึก ข้อเขียนอะไรต่างๆ ของคนที่จากไปแล้ว
จะใส่กล่อง ล็อกกุญแจ ฝังดิน หรือเก็บใต้ตุ่ม
เวลาผ่านไป ยังไงเดี๋ยวก็มีคนเจอ
แต่เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเป็นดิจิตัล
เข้ารหัส ล็อกด้วยพาสเวิร์ด
คนที่รู้รหัสผ่านตายไป ทุกอย่างก็อาจจะหายไปด้วย
(จริงๆ เมลบางเจ้า เจ้าของยังหายใจอยู่
แต่ลืมเข้าไป activate ทุกๆ 15 วัน
จดหมาย 250 MB ก็อาจจะหายวับไปได้)
ญาติผู้ตาย สามารถขอให้เปิดกล่องจดหมายดูได้รึเปล่า
รวมทั้งบริการอื่นๆ ด้วย หลังจากเจ้าของเดิมล่วงลับไปแล้ว
วันนึง ก็จะไม่มี อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล อยู่
แต่ร่างก็อาจจะยังเป็นปุ๋ย เป็นอะไรได้นิดหน่อย
ถ้าตอนอยู่ทำคุณงามความดีอะไรไว้บ้าง
หรือว่าคิดสร้างอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังหน่อย
ชีวิตที่ไม่เหลือแล้ว ก็อาจจะยังเป็นประโยชน์ต่อได้อีกบ้าง ในหนังสือชีวประวัติทั้งหลาย
อาจจะจากงานที่เป็นกระดาษ บันทึก ของใช้ คำบอกเล่าของคนรอบข้าง
วันนึง bact’ ก็จะหายไป
แป้นพิมพ์ที่เคาะ ตัวอักษรต่างๆ สารพัดบิต
ทั้งที่ encode ด้วย TIS-620 ISO-8859-1 หรือ UTF-8
ไม่บางทีก็ดันลืม ให้ชาวบ้านเค้าปวดหัว ต้องมาคอยเปลี่ยน
มันจะหายไปไหน
0 0 1 1 กระพริบ วาบ ไปอย่างปกติ
เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อาจจะกองเป็นขยะข้อมูลอยู่ที่มุมไหนซักมุมหนึ่งของ Internet Archive Project
หรือบางทีบัญชี ICQ หรืออีเมล ก็อาจจะยังอยู่ต่อไปอีกร้อยปี กรณีที่ผู้ให้บริการเค้าไม่ลบ
spammers ทั้งหลาย ก็ยังจะปราถนาดี
คอยส่งวิธีที่ทำให้เรารวยขึ้นภายในสามวันเจ็ดวัน เข้าอีเมลเรา ทั้งๆ ที่เราตายห่าไปแล้ว (อาจจะเป็นแบงค์กงเต๊กก็ได้ ไม่แน่ใจ)
ไม่ก็อาจจะเป็นพวกสมุนไพรหน้าเด้งหน้าเนียน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นก็คงเป็นหน้าหนอนแล้ว
ที่หนีไม่พ้น ก็คงจะเป็น Work @ Home ที่อาจจะต้องหอบงานเอาไปทำ @ Hell แทน ฯลฯ
online identity สร้างได้ เกิดได้
แต่เวลาตาย มันจะตายยังไง?
แล้วสิ่งต่างๆ ที่ online identity นั้นสร้างขึ้นมาในโลกออนไลน์
จะปล่อยให้ตามตามไปด้วยมั๊ย?
ในโลกจริง คนตาย แต่งานอยู่
มีโค้ด มีโปรแกรม เอา source code มาเปิดซะ จะได้ไม่ตายตามไปกับตัว
—-
Subject: ขออภัย อีเมลที่ท่านส่งไม่ถึงผู้รับ
Text:
ขออภัย อีเมลที่ท่านส่งถึง art at siit.net ไม่ถึงผู้รับ
เนื่องจากเจ้าของอีเมลได้เสียชีวิตไปแล้ว
ทางระบบจะพยายามส่งอีเมลฉบับนี้ใหม่ภายในชาติหน้าโดยอัตโนมัติ
ท่านไม่จำเป็นต้องส่งอีเมลซ้ำอีก
หากท่านยังได้รับข้อความนี้อีกหลายๆ ครั้ง
กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบของ siit.net เพื่อให้ดำเนินการซ่อมบำรุงระบบต่อไป
ขอบคุณ
5 responses to “สิ่งที่ควรเขียนไว้ในพินัยกรรม ?”
เมื่อสมัยที่อยู่นิวซีแลนด์ และหัดใช้ e-mail ใหม่ๆ ผมเคยคิดถึงเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน แต่หลังจากที่เฝ้าคิดถึงความตายของตัวเอง คิดถึงเวลาที่ตัวเองจะต้องตายบ่อยๆ เข้า ทำให้ผมค่อนข้างปลงนะสุดท้ายแล้ว มันจะไม่เหลืออะไรเลย มันจะไม่มีอะไรคงทนอยู่ได้อีกเลย สิ่งที่เราคิด เราทำ บางครั้งเราอาจรู้สึกว่ามันดี มันอาจช่วยทำให้โลกดีขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะเป็นเพียงสิ่งที่เล้กน้อยมาก เล็กน้อยมากๆ เสียจนคนอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องมาให้ความสนใจมันผมจึงเลือกที่จะปล่อยให้ทุกสิ่งสูญหายไปกับลมหายใจสุดท้ายของผม … ความคิด ความรู้สึก ความจริง และความลับต่างๆ ที่อยู่บนโลกดิจิตอล แต่ผมเลือกที่จะให้บันทึกที่เป็นสมุดหลงเหลืออยู่เท่านั้น เพราะผมไม่เคยแม้แต่จะคิดโกหกตัวเอง ดังนั้น ทุกอย่างที่ผมลงบันทึกไว้ในสมุดบันทึก จึงเป็นสิ่งที่ผมคิด ผมเข้าใจ ผมรู้สึกจริงในช่วงเวลานั้นๆ และที่สำคัญ ผมต้องการให้ลูกผมได้อ่าน ในกรณีที่ผมอาจจะตายไปก่อนที่เขาโตขึ้นมา ผมบันทึกตัวตนของผม และสิ่งที่ผมต้องการจะคุยกับเขาลงไปในนั้น …
หวัดดีครับเพิ่งเข้ามาครั้งแรกผมอ่านแล้ว ชอบแนวคิดคุณจัง ยังไงจะติดตามอ่านเรื่อยๆนะเอ่อ ว่าแต่ ผมขอทำ link มาที่เว็บคุณนะ
ไอเดียดีแฮะยืมไปเขียนคอลัมน์หน่อยนะ
ได้เดี๋ยวก็ขอยืมค่าเรื่องหน่อยนะ 😛
เราก็เคยแอบคิดนิดหน่อย ว่า ถ้าเกิดเราตาย เพื่อนที่คุยกะเราในเนท หรือเพื่อนที่อยู่ไกลๆ จะรู้มั๊ยนะ… ทำไมเราคิดไม่เป็นเรื่องเป็นราวอย่างพี่อาทซะทีล่ะ มีแต่ "เพ้อเจ้อ" ทั้งนั้น T-T